“ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลจะเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่พุ่งตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ตลอด 2 ปีติดต่อกัน ทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์ขยับขึ้นมากกว่า 30% แต่รัฐกลับยังคงควบคุมราคาขายไม่ให้สอดคล้องต้นทุนที่ขยับสูงขึ้น กระทบกิจการอาหารสัตว์อย่างรุนแรง จนดูเหมือนรัฐกำลังบีบให้ “ผู้ประกอบการอาหารสัตว์” ต้องยุติการดำเนินธุรกิจ เพราะการขายสินค้าในราคาเท่าทุนหรือต่ำกว่าทุนนั้นไม่มีใครอยู่รอดได้ มีแต่เจ๊งกับเจ๊งเท่านั้น ซึ่งนั่นเท่ากับว่ารัฐกำลังตัดตอนข้อต่อสำคัญของอุตสาหกรรมอาหารของประเทศจนมองเห็นเค้ารางของความไม่มั่นคงทางอาหารของไทยที่กำลังก่อตัวขึ้นอย่างน่าสะพรึง”
สมรรถพล ยุทธพิชัย กล่าวว่า ตนเองเห็นความพยายามของบรรดาผู้ประกอบการอาหารสัตว์ รวมถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่ผสมอาหารสัตว์เอง ต่างเรียกร้องขอความเห็นใจ ทำหนังสือเสนอต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์” “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์” ไปจนถึง “นายกรัฐมนตรี” ครั้งแล้วครั้งเล่านับตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบัน มีการยื่นหนังสือไปแล้วถึง 12 ครั้ง แต่หนังสือเหล่านั้นไปอยู่ที่ไหน เหตุใดจึงไม่มีการตอบรับเพื่อแก้ปัญหา จนทำให้เหตุการณ์บานปลาย โรงงานอาหารสัตว์หลายแห่งทยอยปิดไลน์ผลิต และบางแห่งถึงกับเลิกกิจการ หากรัฐบาลยังละเลยเช่นนี้ย่อมมีโรงงานอาหารสัตว์อีกหลายแห่งทยอยเลิกกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานขนาดเล็ก-ขนาดกลางที่ไม่มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องและไม่สามารถขายเนื้อสัตว์เข้ามาเป็นรายได้ประคับประคองธุรกิจอาหารสัตว์ได้เหมือนรายใหญ่
ต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์มาจากพืชวัตถุดิบต่างๆ ถึง 90% ซึ่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ต้นทุนอีก 10% เป็นค่าแรง ค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า และเบ็ดเตล็ด ซึ่งทั้งหมดล้วนขยับตัวสูงขึ้นเช่นกันดังที่ทราบกันแล้วทั่วบ้านทั่วเมือง ขณะที่ต้นทุนส่วนใหญ่เป็นธัญพืชที่มีประเด็นสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เข้ามาเป็นตัวผลักสำคัญให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกสูงขึ้น รวมทั้งยังเป็นอุปสรรคในการขนส่งทำให้ตลาดโลกต้องขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ กระทบเป็นลูกโซ่ไปหลายประเทศ รวมถึงไทย
ไม่เพียงเท่านั้น ปัญหาโลกร้อนยังทำให้ผลผลิตถั่วเหลือง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศผู้ผลิตสำคัญแถบอเมริกาใต้ลดลง จากภัยแล้งและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ส่งผลโดยตรงต่อการเพาะปลูก สถานการณ์ในประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลกที่เพิ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 กลับมารับซื้อธัญพืชจากทั่วโลกในปริมาณมหาศาลอีกครั้ง ทำให้เกิดการแย่งซื้อวัตถุดิบกันเป็นวงกว้าง ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตธัญพืชและความต้องการใช้ไม่สมดุล เป็นเหตุให้กราฟราคานั้นพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่มีใครรู้ว่าจะโค้งลงมาเมื่อใด ยิ่งถ้าผนวกค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลง ยิ่งสาหัสสากรรจ์เข้าไปอีก นี่ยังไม่นับภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
ธุรกิจอาหารสัตว์ของประเทศไทยมีมูลค่ามากกว่า 3 แสนล้านบาท เป็นธุรกิจต้นน้ำของภาคปศุสัตว์ที่มีมูลค่ากว่า 6 แสนล้าน หากธุรกิจต้นน้ำต้องพังทลายลงเพราะการเพิกเฉยต่อปัญหานี้ของรัฐบาล เราจะได้เห็นอะไรตามมาบ้าง
•พืชไร่ทั้งประเทศไม่มีคนรับซื้อ เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดอาหารสัตว์ที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองทุกพรรคจะล้มหายตายจาก รวมถึงพ่อค้าพืชไร่ พ่อค้าคนกลางที่ต้องเปลี่ยนอาชีพ
•เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ไม่มีอาหารสัตว์ใช้ภายในฟาร์ม เกษตรกรรายใดผลิตอาหารสัตว์ใช้เองย่อมรับสภาพต้นทุนวัตถุดิบที่มีราคาแพงไม่ไหว จะทยอยเลิกอาชีพเลี้ยงสัตว์ไปในที่สุด
•ประชาชนผู้บริโภคต้องรับสภาพราคาเนื้อสัตว์ที่สูงขึ้นจากปริมาณผลผลิตที่น้อยลงและอาจต้องแย่งกันซื้อเนื้อสัตว์เป็นอาหารเพื่อครอบครัว
•เศรษฐกิจชาติล่มสลาย จากความมั่นคงทางอาหารที่หายไป เพราะข้อต่อของห่วงโซ่การผลิตอาหารนั้นขาดสะบั้นลง คนงานตกงาน กระทบเป็นปัญหาสังคมในวงกว้าง
ทำไมต้องรอให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น ทั้งๆที่เพียง “รัฐบาล” หันมาใส่ใจจริงจังกับความเดือดร้อนของผู้ประกอบการอาหารสัตว์และเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ เพื่อรักษาธุรกิจที่มีมูลค่ารวมกันกว่า 9 แสนล้านบาทเอาไว้ให้ประเทศ และรักษาความมั่นคงทางอาหารให้ลูกหลาน
ไม่เข้าใจเหตุผลที่รัฐตั้งใจเพิกเฉยกับปัญหานี้ ทั้งๆ ที่มีแต่หายนะรออยู่ มันจะดีกว่าไหมถ้ามีทางออกให้โรงงานอาหารสัตว์อยู่รอดได้ ดีกว่าปล่อยให้กิจการพังแล้วส่งผลกระทบไปทุกภาคส่วน นาทีนี้รัฐจำเป็นต้อง “ปล่อยราคาขายอาหารสัตว์ให้เป็นไปตามกลไกตลาด” ให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและต้องทำทันที ก่อนที่ข้อต่อนี้จะขาดลง