บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เดินหน้านำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิตอาหาร โชว์ผลสำเร็จนำร่องในกลุ่มไก่สดและหมูสด ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้บริโภคด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร วางเป้าหมายปี 2566 ขยายผลต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์กุ้ง
นางสาวอรพรรณ มั่งมีศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สํานักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการส่งมอบอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพสู่ผู้บริโภค นำระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าที่สอดคล้องตามหลักการที่กำหนดโดยองค์กรมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (CODEX) และมาตรฐานไอเอสโอ (ISO) มาใช้ เพื่อความมั่นใจในคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร สามารถสอบกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบ โรงงานที่ผลิตสินค้า กระบวนการผลิตทุกขั้นตอน โดยริเริ่มนำระบบการตรวจสอบย้อนกลับในรูปแบบดิจิทัล (CPF Digital Traceability) มาใช้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา
ในปี 2565 ซีพีเอฟ ร่วมกับ AXONS ผู้นำด้านการพัฒนาระบบสารสนเทศเกษตรเทคโนโลยี (Agri-Tech) ยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับ ด้วยการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain Traceability) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับด้านความถูกต้องของข้อมูลอย่างกว้างขวางในหลายธุรกิจ เช่น การเงิน การจัดซื้อจัดจ้าง และซัปพลายเชน ฯลฯ เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ลูกค้าและผู้บริโภคให้เข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้อง โปร่งใส และรวดเร็ว มาใช้ในผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟทุกรายการ ซึ่งเริ่มในผลิตภัณฑ์กลุ่มไก่สดและหมูสด และในปี 2566 ซีพีเอฟมีแผนขยายผลสู่กลุ่มผลิตภัณฑ์กุ้งสด และผลิตภัณฑ์ปรุงสุก โดยจะดำเนินการให้ครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ในระยะต่อไป
"เรานำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคทราบแหล่งที่มาของสินค้าแล้ว ยังสามารถทราบข้อมูลการได้รับรองมาตรฐานสากลด้านคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร รวมถึงข้อมูลด้านผลิตภัณฑ์ยั่งยืน เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อส่งมอบคุณค่าผลิตภัณฑ์ที่ดีอย่างสม่ำเสมอ" นางสาวอรพรรณกล่าว
นอกจากนี้ ซีพีเอฟได้ใช้ระบบ Blockchain Traceability เพื่อบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตอาหาร ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหาร ระบบขนส่งและคลังสินค้า ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค มั่นใจในคุณภาพและปลอดภัยอาหาร รวมถึงการใช้วัตถุดิบที่มาจากแหล่งที่ไม่มีการตัดไม้ทำลายป่า มุ่งสู่การมีส่วนร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารตามเป้าหมายโลก