อ่างทอง - สภาประชาชนจังหวัดอ่างทอง เตรียมจัดเสวนาผลกระทบและสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอ่างทอง 2565 เผยที่ผ่านมาเรียกร้องให้จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเรื่องการเยียวยา ทั้งเงินชดเชย สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูอาชีพ แต่ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้า
วันนี้ (9 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม สมาคมคนพิการจังหวัดอ่างทอง หมู่ 3 ตำบลศาลาแดง อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง สภาประชาชนจังหวัดอ่างทอง ได้ทำการประชุมผลการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลผลกระทบและสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอ่างทอง 2565 เพื่อเตรียมจัดเสวนา ผลกระทบและสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดอ่างทอง 2565 ในวันที่ 23 ธ.ค. ที่ห้องประชุมสมาคมคนพิการจังหวัดอ่างทอง
นายเอนก สีเขียวสด เจ้าของบริษัทเอนกฟาร์มนกกระทา หมู่ 2 ตำบลป่างิ้ว ฟาร์มนกกระทาใหญ่ที่สุดในอาเซียน กล่าวว่า การจัดเสวนาผลกระทบจากน้ำท่วม สืบเนื่องจากปีนี้จังหวัดอ่างทองได้รับผลจากน้ำท่วมอย่างหนัก ซึ่งที่ผ่านมา กได้รับผลกระทบน้ำท่วมเป็นระยะตั้งแต่ปี 2549 ปี 2554 และในปี 2565 ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเสียหายอย่างหนัก และได้สร้างความเสียหายให้ประชาชนโดยทั่วไป จึงมองดูว่าการเกิดน้ำท่วมในครั้งนี้ เหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาคือน้ำท่วมแล้วท่วมอีก และเราจะทำอย่างไรไม่ให้จังหวัดอ่างทองเกิดความเสียหาย ที่ผ่านมานั้นไม่ได้เกิดภัยพิบัต เนื่องจากมองว่าเป็นฤดูน้ำประจำปี
ถ้าเรื่องภัยพิบัติจะนึกถึงแผ่นดินไหว สึนามิ เราจะมาร่วมกันหลายภาคส่วนในการหาวิธีกันว่าทำอย่างไรไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง และในจังหวัดใกล้เคียง เช่น สิงห์บุรี ชัยนาท อยุธยา อ่างทอง ทั้ง 4 จังหวัดนี้รับศึกมาตลอดตั้งแต่สมัยก่อน รับศึกจากกองทัพ เป็นเมืองหน้าด่าน จนกระทั่งปัจจุบันเราก็ยังรับศึกอีก แต่เป็นศึกน้ำท่วม สร้างความเสียหายต่อชีวิต อาชีพ การทำมาหากิน หากหลายฝ่ายมาร่วมกันศึกษาวิเคราะห์ มันควรไม่เกิดปัญหาเช่นนี้อีก
สำหรับที่เอนกฟาร์มได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม นกกระทานับแสนตัว สัตว์เลี้ยงในฟาร์มต้องถูกน้ำท่วมตายเสียหายจำนวนมาก โรงงานไม่สามารถผลิตไข่ส่งออกได้ ทำให้ได้รับผลกระทบ ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าเราอยู่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เมื่อเราไม่สินค้าเขาต้องไปหาสินค้าที่อื่น เมื่อไปซื้อที่อื่นแล้วเขาจะกลับมาซื้อเราได้ยาก อันนี้คือความเสียหายที่มองไม่เห็น คือ เสียลูกค้า เสียโอกาส
เอนกฟาร์มนกกระทา ฟาร์นกกระทาบนเนื้อที่ 40 ไร่ ขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน ที่ผ่านมา ได้รับความเสียหายหลายสิบล้านทั้งๆ ที่ทำคันดินป้องกันน้ำท่วมแล้ว รวมทั้งเครือข่ายเกษตรผู้เลี้ยงนกกระทาที่เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ ขาดรายได้ สูญเสียโอกาสในการทำมาหากิน และต้องลงทุนเพิ่มขึ้นมาใหม่ แต่ได้รับการเยียวยาที่ไม่เป็นธรรม ขณะนี้กำลังเคลื่อนไหวรวมตัวเรียกร้องให้จังหวัดอ่างทอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ช่วยเรื่องการเยียวยา ทั้งเงินชดเชย สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูอาชีพ แต่ยังไม่มีความคืบหน้า