xs
xsm
sm
md
lg

ชาวสวนทุเรียนตะวันออกยื่นหนังสือ “มนัญญา” ถามความชัดเจนนโยบายคุมคุณภาพทุเรียน หลัง “ชลธี” ลาออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จันทบุรี - ชาวสวนทุเรียนตะวันออกยื่นหนังสือ “มนัญญา” จี้ถามความชัดเจนควบคุมคุณภาพทุเรียนหลัง ผอ.ชลธี ลาออก พร้อมตั้งคำถามว่า ผอ.คนใหม่รักษามาตรฐานปราบ “ทุเรียนอ่อน” ได้หรือไม่ส่วน GAP 80,000 ใบอธิบดีเซ็นให้แล้ว

วันนี้ (8 ธ.ค.) นายสัญชัย โกสัลล์วัฒนา เจ้าของกลุ่ม “ทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน” และองค์กรชาวสวนทุเรียนภาคตะวันออก ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อ น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระหว่างเดินทางลงพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อเปิดงานพืชสวนก้าวหน้าที่ สวพ.6 จันทบุรี

โดยในรายละเอียดของหนังสือเป็นการสอบถามถึงมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียนไทยสำหรับผลผลิตที่จะออกใหม่นับตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป

พร้อมระบุถึงปัญหาที่ นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 ซึ่งได้รับคำสั่งโยกย้ายออกจากพื้นที่ที่อาจส่งผลให้ปฏิบัติการปราบปราม “ทุเรียนอ่อน” สิ้นสุดลง จนสุดท้ายต้องตัดสินใจลาออกเพื่อยุติเส้นทางรับราชการซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของชาวสวนภาคตะวันออก (ระยอง จันทบุรี และตราด) และอาจมีผลกระทบที่เกิดตามมาจนต้องขอความชัดเจนจากรัฐมนตรี ประกอบด้วย


1.ชาวสวนทุเรียนต้องการความชัดเจนในการควบคุมคุณภาพทุเรียนที่ ผอ.ชลธี ได้สร้างมาตรการไว้ซึ่งสามารถใช้ได้จริง และสามารถนำมาเป็นดัชนีชี้วัด “คุณภำพส่งออก” ประจำปี 2564-2565 โดยลูกค้าต่างประเทศยอมรับว่า คุณภาพของทุเรียนไทยที่ส่งออกดีขึ้นและทำให้ราคาดีขึ้น จึงมีคำถามว่า ผอ.คนใหม่ที่เข้ามาทำงานจะมีความเข้มงวดในการรักษามาตรฐานและควบคุมคุณภาพทุเรียน รวมทั้งปราบปราม “ทุเรียนอ่อน” ได้ดังเช่น ผอ.ชลธี นุ่มหนู หรือไม่

2.ปริมาณผลผลิตปี 2566 ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น กอปรกับทุเรียนไทยมีคู่แข่งขันคือประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับอนุญาตการส่งออกคู่กับประเทศไทย ที่จะส่งผลต่อราคาในตลาดโลกซึ่งหากไม่ควบคุมเรื่องคุณภาพ ทุเรียนไทยอาจมีสิทธิหลุดตำแหน่งการส่งออกอันดับ 1

จึงขอให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้มีการออกมาตรการการควบคุมคุณภาพทุเรียนส่งออกให้เป็นรูปธรรม ตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้ตรวจสอบคุณภาพ และผู้ส่งออก เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของทุเรียนไทย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด

3.ความคืบหน้าการออกออกใบรับรอง GAP ราว 80,000 ใบของชาวสวนหลังการลาออกของ นายชลธี นุ่มหนู อดีต ผอ.สวพ.6


“ในวันนี้ต้องขอบคุณรัฐมนตรีช่วย มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ที่รับหนังสือและยังได้สอบถามถึงปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์ทุเรียนภาคตะวันออกด้วยตัวเอง เนื่องจากที่ผ่านมา ทางกลุ่ม และองค์ชาวสวนภาคตะวันออกเคยทำหนังสือส่งไปยังรัฐมนตรีเพื่อแจ้งปัญหาและขอทราบความชัดเจนเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก แต่หนังสือไม่เคยถึง”

นายสัญชัย ยังเปิดเผยอีกว่า ในหนังสือที่ยื่นต่อรัฐมนตรีช่วย มนัญญา ยังขอให้มีการแจ้งกลับเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในเบื้องต้นในส่วนของใบรับรอง GAP ราว 80,000 ใบได้รับคำชี้แจงว่า นายระพีภัทร์ จันทศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้เซ็นรับรองเอกสารทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว

ด้าน ผศ.ดร.สัมพันธ์ จันทร์ดำ ที่ปรึกษากลุ่มทำสวนเอาเงิน ไม่ได้เอาเงินทำสวน เผยว่า รัฐมนตรีช่วยมนัญญา ได้รับทราบปัญหาและข้อห่วงใยจากเกษตรกรแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีช่วยมนัญญา ได้ชี้แจงแล้วว่าเป็นรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตร ซึ่งมีหน้าที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาผลไม้ภาคตะวันออกโดยตรง และจะยึดแนวทางการทำงานและแก้ปัญหาเหมือนปี 2564

โดยการทำงานควบคุมคุณภาพทุเรียนต้องเข้มข้นไม่ต่ำกว่ามาตรฐานที่ผ่านมา จึงขอให้ชาวสวนรอติดตามการทำงานก่อน เพราะอีก 3 เดือนจะถึงเวลาที่ผลผลิตทุเรียนล็อตใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้เห็นผลว่าการแก้ปัญหาทุเรียนเดินมาถูกทางหรือไม่






กำลังโหลดความคิดเห็น