จันทบุรี - ไม่สนข้อเรียกร้อง! ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ลงนามคำสั่งให้มือปราบทุเรียนอ่อน “ชลธี นุ่มหนู” ออกจากราชการแล้วตั้งแต่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะเจ้าตัวลั่นเดินหน้าทำงานภาคประชาชนแก้ไขปัญหาทุเรียนต่อไป ด้านชาวสวนบอกสุดเสียดายข้าราชการน้ำดี
วันนี้ (28 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงนามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 859/2565 ลงวันที่ 25 พ.ย.2565 เรื่องให้ข้าราชการลาออกจากราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2565 แล้ว โดยข้าราชการรายดังกล่าว คือ นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช กรมวิชาการเกษตร อดีตผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 6 (สวพ.6)
โดยท้ายคำสั่งระบุว่า ลาออกเนื่องจากต้องการไปประกอบอาชีพอื่นและดูแลบุพการี ซึ่งเป็นไปตามที่ นายชลธิ นุ่มหนู ได้เคยประกาศไว้ ทั้งที่ยังเหลืออายุราชการอีกประมาณ 5 ปี
และจากการสอบถามไปยัง นายชลธี นุ่มหนู ทราบว่า ตนเองได้รับทราบการลงนามคำสั่งลาออกจากราชการแล้ว และจะมีผลในวันที่ 1 ธ.ค.2565 ตามที่เคยแจ้งไว้ และหลังจากนี้ตนเองจะกลับไปดูแลสวนทุเรียนของครอบครัว และจะจัดตั้งกลุ่ม หรือสมาคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกัน
โดยอาจใช้ชื่อ “สมาคมเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย” หรือฟรุ๊ตบอร์ดภาคประชาชน เพื่อทำงานคู่ขนานกับหน่วยงานของภาครัฐและทีมเล็บเหยี่ยวพิทักษ์ทุเรียนไทย
“เพราะหากไม่มีองค์กรภาคประชาชนเข้าร่วมตรวจสอบควบคู่ไปกับหน่วยงานของรัฐ อาจมีคนบางกลุ่มใช้อำนาจข่มเหงเจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่หากองค์กรภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยจะทำให้การทำงานของภาครัฐเดินหน้าได้ และไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลใดๆ” นายชลธี กล่าว อย่างไรก็ดี นายชลธี ได้เคยเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า แม้จะลาออกจากราชการแต่ตนเองจะยังทำงานช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้ชาวสวนภาคตะวันออกต่อไป
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเกษตรกรชาวสวนภาคตะวันออกจะมีความเคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อคัดค้านคำสั่งโยกย้ายของกรมวิชาการเกษตร และเมื่อวันที่ 23 พ.ย.ยังได้รวมตัวกันที่ อบจ.จันทบุรี เพื่อร่วมกันพูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาผลไม้และทุเรียนที่คาดว่าในปี 2566 จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
และยังได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้เตรียมแนวทางแก้ปัญหาทุเรียน ปี 2566 ภายใต้ขอเสนอ 4 ข้อประกอบด้วย 1.การกำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพทุเรียน ปี 2566 2.แนวทางการการป้องกันทุเรียนอ่อน และการนำทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาสวมสิทธิทุเรียนไทยส่งขายต่างประเทศ
3.มาตรการแก้ปัญหาการสวมสิทธิใบ GAP ของเกษตรกรที่มีการนำไปขายให้บุคคลที่ 3 ในราคาใบละ 100,000-500,000 บาท
และ 4.ขอให้จังหวัดจันทบุรี ประสานไปยังผู้มีอำนาจในการระงับคำสั่งการย้าย นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรที่ 6 (สวพ.6) เข้าทำงานที่กรมวิชาการเกษตร โดยขอให้ทำงานในพื้นที่ จ.จันทบุรี ช่วยชาวสวนอีก 2 ปี เนื่องจากการทำงานแก้ไขปัญหาผลผลิตทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ในช่วงที่ผ่านมาเดินมาถูกทางแล้ว แต่สุดท้ายคำขอดังกล่าวก็ไม่เป็นผล
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังกลุ่มชาวสวนภาคตะวันออก เกี่ยวกับการจัดตั้งกลุ่ม หรือสมาคมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกันของนาย ชลธี นุ่มหนู พบว่า ชาวสวนจำนวนมากต่างเห็นด้วย และต่างพากันเสียดายข้าราชการน้ำดีแม่ทัพทีมเล็บเหยี่ยว
โดยเกษตรกรรายหนึ่งเผยว่า หลังจากนี้คงจะหาข้าราชการที่ทำงานเอาจริงเอาจังและทำงานเพื่อเกษตรกร รวมทั้งเดินหน้าเอาผิดผู้ที่กระทำผิดกติกาแบบ นายชลธี นุ่มหนู ไม่ได้อีกแล้ว และการที่ นายชลธี ออกมาขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชน จะเป็นผลดีที่กระตุ้นให้เจ้าหน้าที่รัฐทำงานมากขึ้น
“เนื่องจาก นายชลธี คลุกคลีกับชาวสวนจนรู้ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางแก้ไขเชิงรุกได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากผลงานปี 2565 ที่ทีมเล็บเหยี่ยวสามารถแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที และยังเข้าใจผู้ประกอบการจนสามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้” เกษตรกรจันทบุรี กล่าว