ท่าขี้เหล็ก/เชียงราย - แม่สายตั้งวอร์รูมรับมือกลิ่นไซยาไนด์ลอยข้ามฝั่งคลุมหมู่บ้านชายแดน พร้อมเร่งหาต้นตอกลิ่นแล้ว..ด้านพม่าสั่งปิด รง.ปูนขาว ขนลิกไนต์เผาเป็นเชื้อเพลิง พบฝั่งท่าขี้เหล็กมีทั้งเผาบ่อขยะ โรงงานยาง เหมืองทองเมืองเลน รวมถึงเหมืองแมงกานีสเมืองโก
วันนี้ (16 พ.ย. 65) ความคืบหน้ากรณีชาวบ้านชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 10 หมู่บ้าน ต้องผจญกับปัญหากลิ่นเหม็นโชยมาจาก จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา ล่าสุดทางการ จ.ท่าขี้เหล็กได้มีคำสั่งปิดโรงงานทำปูนขาวที่ใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินลิกไนต์ ซึ่งตั้งอยู่บ้านสะโถ่งบน-ล่าง จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากชายแดน 6-8 กิโลเมตร
แต่ไม่มีการระบุว่ากลิ่นเหม็นมีต้นตอมาจากโรงงานดังกล่าวที่เปิดมาได้ประมาณ 6 เดือน แต่มีรายงานว่ากลิ่นจากโรงงานยังส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในบ้านสะโถ่งบน บ้านสะโถ่งล่าง บ้านเป็งว่า บ้านผะตินบากง ฯลฯ ใน จ.ท่าขี้เหล็ก เช่นกันเท่านั้น
ด้านนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย ได้เรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ การป้องกันและแก้ไขปัญหากลิ่นจากสารเคมีในพื้นที่ อ.แม่สาย ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลแม่สายมิตรภาพ ซึ่งเป็นท้องที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด 4 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านเหมืองแดงใต้ หมู่บ้านเวียงหอม หมู่บ้านสันทราย และหมู่บ้านสันทรายใหม่
โดยสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) แจ้งผลการตรวจกลิ่นว่าเกิดจากสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) และเมื่อวัดค่าจากเครื่องตรวจ Multi RAE ได้ค่า 0.5 จากค่าปกติ 0.0 ppm จึงถือว่ามีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ แจ้งเตือนให้ประชาชนได้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาและให้งดเปิดหน้าต่างในช่วงเวลากลางคืนแล้ว
นายณรงค์พลกล่าวว่า ได้ประสานไปยังประเทศเมียนมาแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้รับคำตอบว่ากลิ่นมาจากไหนและอะไรหรือจะมีการดำเนินการอย่างไร ณ ขณะนี้เราก็ทราบเพียงว่ามีสารชนิดใด แต่ก็ระบุไม่ได้ว่าเกิดจากกิจกรรมใด เพราะอาจเกิดจากการเผาบ่อขยะ การถลุงแร่ทองคำ การเผาไหม้ของยางแผ่นรมควัน หรืออาจเกิดจากถ่านหินลิกไนต์ที่ใช้ผลิตปูนขาวหรือเผาอิฐ ซึ่งยังไม่ได้ข้อสรุปจึงต้องรอการพิสูจน์กันก่อน เบื้องต้นสิ่งที่จำเป็นคือต้องป้องกันผลกระทบไว้ก่อน
รายงานข่าวจาก จ.ท่าขี้เหล็กระบุอีกว่า โรงงานปูนขาวที่ถูกทางการเมียนมาปิดดังกล่าวชื่อ บ้านลมอิฐ 999 ซึ่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านสิ่งแวดล้อมใน จ.ท่าขี้เหล็ก ได้เรียกสอบปากคำผู้ที่เกี่ยวข้องกับโรงงาน เช่น ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน สถานะการเป็นเจ้าของที่ดิน ใบอนุญาตอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่เกี่ยวข้อง การอนุมัติจากเขตการปกครองและเขตการปกครองที่โรงงานดำเนินการ และการตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยระหว่างนี้ให้ปิดโรงงานจนกว่าจะมีคำสั่งใหม่ เบื้องต้นผลการตรวจทราบว่าโรงงานมีการใช้หินปูนเพื่อผลิตปูนขาวครั้งละ 1,000 กิโลกรัมหรือ 1 ตัน และแต่ละครั้งต้องใช้ถ่านหินเพื่อเผาไหม้ 200 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ จ.ท่าขี้เหล็กยังมีบ่อฝังกลบขยะห่างจากพรมแดนไทยเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร และเคยเกิดปัญหาขยะเต็มจนมีคนแอบไปเผาจนเกิดควันคละคลุ้งมาแล้ว
ส่วนการใช้สารไฮโดรเจนไซยาไนด์ (HCN) ในปริมาณมาก คาดว่าจะอยู่ในเขตดอยคำ พื้นที่หมู่บ้านนาไฮหลง เมืองเลน ห่างจากตัวเมือง จ.ท่าขี้เหล็กไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 40 กิโลเมตร ซึ่งมีเอกชนได้รับประทานบัตรหรือใบอนุญาตให้ขุดเหมืองแร่ทองคำ เป็นเวลา 11 ปีนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2564 เป็นต้นไป จำนวน 12 บริษัท แต่ละประทานบัตรจะครอบคลุมพื้นที่ 50 ไร่ และยังมีเอกชนจากประเทศออสเตรเลียอีก 1 บริษัทที่ได้ประทานบัตรสำรวจหาทองคำเป็นเวลา 5 ปีตั้งแต่ปี 2563 บนพื้นที่ 456 ตารางกิโลเมตร หรือ 281,825 ไร่ มีการนำเครื่องจักรเข้าไปติดตั้งมาตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เคยส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในเมืองเลนอย่างหนักในปี 2565 เพราะมีดินโคลนไหลเข้าหมู่บ้านและทำให้เกิดน้ำท่วม นอกจากนี้ยังมีเหมืองแร่แมงกานีสในเขตเมืองโก จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากชายแดนประมาณ 20 กิโลเมตรอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยยังอยู่ระหว่างรอคำตอบจากฝ่ายเมียนมา เพื่อนำข้อเท็จจริงมาพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุต่อไป