เชียงราย - ฝ่ายปกครองชายแดนแม่สายเร่งชงเรื่องผ่าน TBC ประสานพม่า ตรวจสอบ-แก้ไขปัญหากลิ่นปริศนาโชยคลุ้งข้ามแดน เหม็นตลบอย่างน้อย 7 หมู่บ้านทุกคืนมาร่วม 2 เดือน เบื้องต้นยังไม่ฟันธงเป็นกลิ่นเผาลิกไนต์-บ่อขยะ
ความคืบหน้ากรณีปัญหากลิ่นเหม็นโชยข้ามมาจากฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จนชาวบ้านกว่า 7 หมู่บ้านพื้นที่ ต.แม่สาย เข้ามายัง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ต้องทนรับกลิ่นมานานประมาณ 1-2 เดือนที่ผ่านมาแล้วนั้น ล่าสุดหลังจากทางฝ่ายปกครอง อ.แม่สาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อคืนวันที่ 31 ต.ค. ทางฝ่ายปกครอง อ.แม่สาย ประกาศว่ากลิ่นไม่ได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นกลิ่นขยะแต่มีลักษณะคล้ายกลิ่นถ่านหินหรือสารเคมี-ทำเรื่องเสนอคณะกรรมการชายแดนไทย-เมียนมา ระดับท้องถิ่น หรือทีบีซี ฝ่ายไทย ประสานทีบีซีฝ่ายประเทศเมียนมาเพื่อแก้ไขแล้ว
ขณะที่ชาวบ้านทรายใหม่ หมู่ 11 ต.แม่สาย ซึ่งเป็นชุมชนคนไทยที่ตั้งอยู่ติดกับลำน้ำสายที่เป็นเขตแดนไทย-เมียนมา มากที่สุด ต่างยอมรับว่าช่วงนี้คงมีกลิ่นเหม็นโชยมาจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงตั้งแต่ประมาณ 18.00 น.เป็นต้นไปจนกลางดึกกลิ่นก็จะหายไป ทำให้ชาวบ้านมีอาการหายใจลำบาก นอนหลับพักผ่อนไม่ได้ตามปกติ ฯลฯ ซึ่งจนถึงปัจจุบันต่างก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกลิ่นอะไรกันแน่
ด้านนายสิทธิศักดิ์ สุวรรค์รักษ์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านสันทรายใหม่ กล่าวว่า จากการสอบถามทราบว่าน่าจะมีคนอย่างน้อย 10 หมู่บ้านในเขต ต.แม่สาย และ ต.เกาะช้าง ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งชาวบ้านต่างก็ระบุไปต่างๆ นานาว่าเป็นกลิ่นเหมือนการเผาขยะบ้าง การเผาถ่านหินลิกไนต์ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกลิ่นอะไร ทราบแต่เพียงว่าก่อนหน้านี้กลิ่นไม่รุนแรงแต่เริ่มรุนแรงขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาวนี้
แหล่งข่าวชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่สาย ที่ตรวจสอบสถานการณ์ในฝั่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ระบุว่าปัจจุบันฝั่งประเทศเมียนมาที่ติดกับ อ.แม่สาย ยังไม่มีการเผาถ่านหินลิกไนต์เพราะโครงการยุติไปนานแล้ว สินแร่ที่ขนจากเหมืองก็ไม่ได้มีการเผาไหม้จึงคาดว่าไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น
แต่น่าจะเกิดจากการเผาขยะบริเวณชานเมืองท่าขี้เหล็กห่างจากชายแดนไทยเข้าไปประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งในอดีตจะใช้การฝังกลบทำให้ไม่มีกลิ่น กระทั่งปริมาณขยะมีมากขึ้นจึงอาจทำให้มีการเผา ประกอบกับช่วงฤดูหนาวความกดอากาศสูง ทำให้กลุ่มควันไม่ลอยไปในอากาศ จนทำให้มีกลิ่นโชยเข้ามายังฝั่งไทย
"จากการตรวจสอบแหล่งถ่านหินลิกไนต์ในท่าขี้เหล็กพบว่ามีการขุดและนำไปเก็บไว้ในพื้นที่ประมาณ 3 แห่ง แต่ไม่ได้มีการนำไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าแต่อย่างใด เนื่องจากโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานถ่านหินลิกไนต์ในท่าขี้เหล็กถูกชะลอออกไปนานแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงคงต้องรอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยประสานไปยังฝ่ายประเทศเมียนมาเพื่อแจ้งข้อมูลที่แท้จริงพร้อมวิธีการแก้ไขปัญหาต่อไป"