xs
xsm
sm
md
lg

ลูกหลานดีใจกันทั้งตระกูล! 14 ผู้เฒ่าอาข่าแม่ฟ้าหลวงได้สัญชาติไทย-ทำบัตรครั้งแรกในชีวิตวัยเกือบ 80 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงราย - 14 ผู้เฒ่าชาวอาข่าแม่ฟ้าหลวงดีใจสุดชีวิต..ได้สัญชาติไทย-ขึ้นอำเภอฯ ทำบัตร ปชช.ครั้งแรกในวัยเกือบ 80 ปี บอกลูกหลานสบายใจกันทั้งตระกูล แต่ยังมีตกค้างทั่วประเทศอีกกว่า 100,000 คน เฉพาะเชียงราย-เชียงใหม่-ตาก จว.ละไม่ต่ำกว่า 13,000 คนที่ยังรอสิทธิ


วันนี้ (14 พ.ย. 65) นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการ พชภ. ได้นำกลุ่มผู้สูงอายุชาวอาข่า บ้านป่าคาสุขใจ หมู่ 5 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งอายุตั้งแต่ 72-79 ปี รวม 14 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 11 คน เดินทางไปทำบัตรประจำตัวประชาชนในฐานะบุคคลสัญชาติไทยเป็นครั้งแรก ณ ที่ว่าการ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย

หลังจากที่ทั้งหมดผ่านกระบวนการขอแปลงสัญชาติจากบุคคลต่างด้าวเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งพบว่าผู้สูงอายุทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าต่างมีความดีใจเป็นอย่างมากที่ได้ไปทำบัตรประชาชนเป็นครั้งแรกในชีวิต โดยมีว่าที่ ร.ท.พงค์ กูลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง นำเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก

นางเตือนใจกล่าวว่า ผู้เฒ่าเหล่านี้เดินทางเข้ามาอยู่ในประเทศไทยบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน อ.แม่ฟ้าหลวง ตั้งแต่ปี 2524 ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 3 ต.ค. 2538 เปิดให้ผู้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเกิน 10 ปี สามารถทำบัตรบุคคลต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ และถ้าครบ 5 ปีก็สามารถขอสัญชาติไทยได้

ซึ่งทั้งหมดได้ทำเรื่องขอทำบัตรต่างด้าวจนได้ในปี 2546 จึงถือว่าเข้าเงื่อนไข แต่หลักเกณฑ์ก็ยากเกินกว่าจะทำได้ เช่น ต้องมีรายได้เดือนละ 20,000 บาท มีใบอนุญาตการทำงาน ต้องสามารถตอบคำถามความรู้ด้านต่างๆ ได้ ร้องเพลงชาติได้ ฯลฯ

กรณีผู้มีอายุมากเหล่านี้ย่อมมีข้อจำกัด ทำให้ทาง พชภ.ได้พาสื่อมวลชนลงสำรวจพื้นที่จริงจนพบสภาพปัญหา และต่อมาทาง พล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รมว.กระทรวงมหาดไทย ได้ปรับเกณฑ์เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ให้มีความเป็นไปได้มากขึ้น เช่น ให้สามารถใช้ภาษาถิ่นในการตอบคำถามได้ เป็นต้น

นางเตือนใจกล่าวอีกว่า หลังจาก รมว.กระทรวงมหาดไทยปรับเกณฑ์ดังกล่าว ทาง พชภ.โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ลงพื้นที่จัดกิจกรรมผู้เฒ่าไร้สัญชาติในพื้นที่เป็นครั้งแรกซึ่งพบว่ามีจำนวนกว่า 110,000 คนทั่วประเทศ เฉพาะ จ.เชียงรายมีประมาณ 13,000 คน พอๆ กับเชียงใหม่ และตาก

แต่คนที่มีบัตรบุคคลต่างด้าวในพื้นที่ จ.เชียงราย มีเพียงประมาณ 3,000 คน เข้าหลักเกณฑ์ในการแปลงสัญชาติ 15 คน เสียชีวิตไป 1 ราย จึงเหลือ 14 คนดังกล่าว ซึ่งเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้มีโอกาสได้รับสัญชาติไทยเป็นครั้งแรกจากการปรับเกณฑ์ใหม่ โดยผ่านขั้นตอนการคัดกรอง นำเสนอไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย คณะอนุกรรมการกลั่นกรองการขอแปลงสัญชาติพิจารณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาต

จากนั้นกรมการปกครองได้แจ้งที่ว่าการ อ.แม่ฟ้าหลวง เพื่อทำพิธีปฏิญานตนต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก่อนบันทึกลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อเดือน ต.ค. 65 ที่ผ่านมา ทำให้มีการทำบัตรประจำตัวประชาชนเป็นครั้งแรกดังกล่าว ซึ่งรวมระยะเวลาที่ พชภ.ผลักดัน 10 ปี และผ่านกระบวนการหลัง พล.อ.อนุพงษ์ อนุมัติปรับหลักเกณฑ์อีก 2 ปี


“ทั้ง 14 คนนี้ถือเป็นบุคคลนำร่องที่ได้รับสัญชาติไทยเป็นครั้งแรกตามหลักเกณฑ์ใหม่ และยังมีผู้ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยไม่ต่ำกว่า 40-50 ปี ซึ่งมีการประกาศได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้แปลงสัญชาติเป็นไทยอีก 175 ราย ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย วันที่ 3 ต.ค. 2565 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 19 ต.ค.อีกจำนวน 175 ราย โดยอยู่ใน จ.เชียงราย 32 รายด้วย จึงคาดหวังว่าผู้เฒ่าไร้สัญชาติที่ยังเหลืออยู่อีกเป็นจำนวนมากจะได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วตามหลักเกณฑ์ใหม่ดังกล่าว" นางเตือนใจกล่าว

ด้านนายอาเมีย แซ่แบว ช่างตีเครื่องเงินที่มีชื่อเสียงของชาวอาข่าในประเทศไทยและพม่า วัย 72 ปี กล่าวว่า ดีใจและโล่งใจมาก เพราะได้เป็นคนไทยเต็มตัวหลังจากรอมานาน และคนที่ดีใจมากคือลูกหลานของตน เพราะเขาทำงานในตัวเมือง นายจ้างหรือคนอื่นก็มักจะถามว่าพ่อแม่มีสัญชาติอะไร เมื่อต้องลงเอกสารว่าพ่อแม่เป็นพม่าก็ทำให้เขาไม่สบายใจ แต่ตอนนี้ทุกคนสบายใจแล้ว

นางอาเบอะ หม่อปอกู่ อายุ 71 ปี กล่าวว่า ดีใจมากที่ได้บัตรประชาชนเพราะตอนนี้อายุมากแล้วแต่การเดินทางไปไหนก็ลำบากเพราะเราไม่มีสัญชาติไทย การรักษาพยาบาลต่างๆ ก็เป็นปัญหาไปหมด แต่หลังจากนี้ตนก็ได้รับสิทธิตามปกติและยังได้รับเบี้ยผู้สูงอายุอีกด้วย

ขณะที่ว่าที่ ร้อยโท พงค์ กูลนรา นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง ที่นำเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกในการทำบัตร กล่าวว่า ในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวงมีประชากรประมาณ 77,000 คน เป็นผู้ไม่มีสัญชาติประมาณ 15,000 คน เป็นผู้เฒ่าที่อยู่ในเกณฑ์ลักษณะนี้อยู่ 705 คน ซึ่งล่าสุดทางอำเภอส่งเรื่องไปยังจังหวัดแล้ว 573 คน ทำให้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 132 คน






กำลังโหลดความคิดเห็น