เชียงใหม่ - เปิดใจ! พ่อครูดุนโลหะแห่งชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) เชียงใหม่ สุดภาคภูมิใจ ได้เผยแพร่ภูมิปัญญาไปทั่วโลกจากการผลิตภาพดุนโลหะและกล่องเครื่องประดับดุนโลหะ ใช้มอบเป็นของที่ระลึกสำหรับผู้นำและคู่สมรสในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ
ในการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในประเทศไทยระหว่างวันที่ 18-19 พ.ย.65 เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปก ทั้งนี้ รัฐบาลไทยได้จัดเตรียมของที่ระลึกสำหรับผู้นำและคู่สมรส และแขกพิเศษในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก 2022 เป็นภาพดุนโลหะ ขนาด 30 x 60 เซนติเมตร หนา 5 ซม. ผลิตจากโลหะรีไซเคิล ขึ้นเป็นรูปพระบรมมหาราชวัง และเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ มุมมองจากหอประชุมกองทัพเรือ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานเลี้ยงรับรองผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกและคู่สมรส ประดับพื้นหลังด้วยตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย “ชะลอม” ที่จัดวางเป็นรูปทรงตราประจำยามของไทย สำหรับผู้นำที่ร่วมการประชุม และกล่องเครื่องประดับดุนโลหะขนาด 13 x 20 ซม. หนา 5 ซม. ใช้เทคนิคดุนลายบนแผ่นโลหะรีไซเคิล เป็นลวดลายด้วยตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย “ชะลอม” ที่จัดวางเป็นรูปทรงตราประจำยามของไทย สำหรับคู่สมรส ซึ่งของที่ระลึกทั้ง 2 ชิ้นนี้ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่
นายดิเรก สิทธิการ อายุ 68 ปี หรือ “พ่อครูดิเรก” แห่งศูนย์การเรียนรู้ “ฮ่อมเฮียนศิลป์” ชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ ผู้สืบทอดภูมิปัญญาการบุดุนโลหะและเครื่องเงินสกุลช่างวัวลาย-ศรีสุพรรณ ซึ่งตัวหลักในการผลิตผลงานทั้ง 2 ชิ้นดังกล่าว เปิดเผยว่า ผลงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุดของทุกคนในชุมชน ที่ผลงานจากความรู้ภูมิปัญญาของชุมชนที่สืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีและหลายชั่วอายุคนได้รับการเผยแพร่สู่ระดับโลก ด้วยการนำไปเป็นของที่ระลึกมอบแก่ผู้นำระดับโลกและคู่สมรสในการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกครั้งนี้ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งการทำงานนี้ได้รับการติดต่อประสานงานจากรัฐบาลเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว จากนั้นได้ทำการออกแบบและผลิตจนเสร็จและส่งมอบให้รัฐบาลไปแล้ว ใช้ช่างจากชุมชนประมาณ 20 คนช่วยกันทำ นับเฉพาะช่วงทำงานหลังจากที่ออกแบบเสร็จแล้วใช้เวลาประมาณ 1 เดือนครึ่ง สำหรับผลงานภาพดุนโลหะนั้นมีชื่อเรียกว่า “รชตะแสนตอก” ส่วนกล่องเครื่องประดับดุนโลหะ มีชื่อเรียกว่า “รชตะหมื่นตอก” ผลิตออกมาอย่างละ 27 ชิ้น ซึ่งผลงานทั้ง 2 ชิ้นนี้ต้องถือว่าไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เพราะไม่มีอะไรที่เปรียบเทียบได้กับความภาคภูมิใจที่ผลงานของชุมชนและฝีมือช่างสกุลวัวลาย-ศรีสุพรรณ เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ทั้งนี้ ผลงานที่ผลิตขึ้นทุกชิ้นได้ส่งมอบให้รัฐบาลไปหมดแล้ว ยกเว้นผลงานต้นแบบที่เหลือเก็บไว้เป็นที่ระลึกแห่งความภาคภูมิใจเท่านั้น