ข่าวการจับกุมผู้กระทำผิดใน “ขบวนการหมูเถื่อน” หลายครั้ง มีการยึดและฝังทำลายของกลางหลายพันตัน แม้จะยังไม่เคยเปิดเผยตัวการใหญ่ได้สักครั้ง แต่ก็พอแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มขยับตัวรุกหนักในการปราบปรามขบวนการหมูเถื่อนมากขึ้น ซึ่งมีผลโดยตรงให้เหล่ามิจฉาชีพอึดอัด และจำเป็นต้องหาช่องทางใหม่ๆ ในการขนย้ายหมูเหล่านั้นเข้ามาขายยังประเทศไทย
ในระยะแรกขบวนการนี้ใช้วิธีขนส่งหมูจากสหภาพยุโรปและอเมริกามาทางทะเล ใช้เวลาเป็นเดือนจึงเข้าเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบัง สำแดงเท็จเป็นสินค้าอื่น ก่อนขนถ่ายขึ้นรถบรรทุกแล้วกระจายไปเก็บสต๊อกยังห้องเย็นต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง เช่น สมุทรสาคร นครปฐม ราชบุรี ต่อมามีการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง จากเดิมที่ใส่รถเก็บความเย็นไปห้องเย็น ก็เปลี่ยนเป็นขนถ่ายใส่รถบรรทุกพ่วง ตบตาเจ้าหน้าที่ว่าไม่ใช่รถเก็บความเย็นขนหมูเถื่อน ซึ่งยังได้เห็นการจับกุมรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อคาถนนหลวงในกรุงเทพฯ
เมื่อขบวนการขนถ่ายหมูเถื่อนผ่านเส้นทางแหลมฉบังไปห้องเย็นต่างๆ เริ่มสะดุด ก็เกิดแนวทางใหม่ที่จะหลีกเลี่ยงการตรวจจับอีก เช่น การขนส่งขึ้นท่าเรือแหลมฉบัง แล้วทำเป็นสินค้านำผ่านขนส่งไปประเทศที่ 3 ซึ่งก็คือ กัมพูชา เมื่อข้ามชายแดนไปแล้วใช้วิธีให้ “กองทัพมด” ทยอยขนหมูเถื่อนขึ้นรถกระบะข้ามด่านชายแดนไทย-กัมพูชา
ล่าสุด มีเส้นทางใหม่เกิดขึ้น เมื่อท่าเรือแหลมฉบังถูกมองว่าเป็นจุดหลักในการส่งหมูเถื่อนเข้าไทย ทำให้ความเข้มข้นในการตรวจจับมีมากขึ้น และมีแนวโน้มที่จะผลักดันตู้คอนเทนเนอร์ขนหมูเถื่อนนับ 100 ตู้ออกจากแหลมฉบังกลับสู่ประเทศต้นทาง แต่เมื่อมิจฉาชีพ “ลงทุน” แล้วย่อมไม่ยอมขาดทุน และใช้วิธีหาเส้นทางใหม่ทดแทน โดยเส้นทางแรก คือ ตู้คอนเทนเนอร์หมูเถื่อนจะอ้อมไปขึ้นท่าเรือโฮจิมินห์ (ไซ่ง่อน) ผ่านพนมเปญ ปอยเปต เข้าสู่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยใช้เส้นทางสาย R1 และเส้นทางที่ 2 ขึ้นที่ท่าเรือดานัง ของประเทศเวียดนาม แล้วขนถ่ายด้วยรถวิ่งบนถนน R9, R2 ผ่านสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว เข้าสู่ประเทศไทยที่ จ.นครพนม โดยทั้ง 2 เส้นทางอาศัย “กองทัพมด” ขนถ่ายจากรถห้องเย็นฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมายังรถห้องเย็นในประเทศไทย
เห็นความพยายามของเหล่ามิจฉาชีพแล้ว ก็รู้เลยว่าหมูเถื่อนเหล่านี้มีราคาต้นทุนที่ต่ำมากขนาดไหน แม้จะมีค่าขนส่ง ค่าน้ำมัน ค่าพื้นที่เก็บสต๊อกเพิ่มขึ้นมาจากการเดินทางอ้อมไปขึ้นท่าเรือเวียดนามกี่หลายเท่าตัว ก็ยังสามารถนำเข้ามาขายคนไทย ฟันกำไรมหาศาลได้เต็มกระเป๋า ยังไม่นับระยะเวลาที่หมูต้องอยู่ในเรืออีกนับเดือน หมดอายุคาตู้คอนเทนเนอร์ไปก็มี นี่กระมังที่เขาเรียกว่า “หมูขยะ” ต้นทุนแทบเป็นศูนย์ ขายยังไงก็ได้กำไร ทำให้ไม่ต้องสงสัยในคุณภาพเลยว่าอยู่ในเกรดอันตรายปานใด ดูจากสภาพสินค้าที่ถูกจับกุมได้ เป็นซากหมูละลายน้ำแข็งที่มีกล่องแตกหักเสียหาย สกปรกและง่ายต่อการปนเปื้อน ดูแล้วไม่ใช่อาหารปลอดภัยที่คนไทยควรรับประทาน
สิ่งหนึ่งที่มิจฉาชีพอาจมองข้ามไป คือ ด่านชายแดนอรัญประเทศนั้น กำกับดูแลโดย “กองกำลังบูรพา” และยังเป็นพื้นที่ “กฎอัยการศึก” ซึ่งเป็นกฎหมายด้านความมั่นคงระดับเข้มข้น ดังนั้น กองทัพมดจะขยับอย่างไรย่อมไม่พ้นสายตาของทหารไทยกองกำลังนี้
เชื่อได้ว่า “กองกำลังบูรพา” เป็นทหารที่สแกนหมูเถื่อนได้แม่นยำกว่าเครื่องเอกซเรย์ของ “กรมศุลกากร” และคงบอกเหล่ามิจฉาชีพได้แค่สั้นๆ ว่า “ถ้าอยากลองดี...ก็ลองดู”
โดย วลัญช์ ศรัทธา