เพชรบุรี - เบรกย้ายลิงเขาวัง ชี้ควบคุมจำนวนได้ผล ตรวจโรค-ทำหมันแล้ว 25,000 ตัวทั่วประเทศ ชมกรมอุทยานฯ เดินถูกทางแล้ว "หมอล็อต" ยืนยันยังไม่พบรอยโรคฝีดาษลิงในฝูงลิงเมืองไทย
วันนี้ (2 พ.ย.) นายยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย ถึงกรณีลิงเขาวัง ที่บางหน่วยงานมีแนวคิดแก้ไขปัญหาลิงในเมืองเพชรบุรี ด้วยการย้ายฝูงลิงไปอยู่ที่ป่าแก่งกระจาน ว่า เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และขาดความรู้ความเข้าใจในพฤติกรรมของสัตว์
เนื่องจากฝูงลิงในเมืองเพชรบุรี นั้นอยู่ร่วมกับมนุษย์มานานจนขาดสัญชาตญาณสัตว์ป่า เกินกว่าจะกลับไปอยู่รอดในป่าได้ และต่อให้รอดชีวิตได้ ก็ไม่พ้นจะพากันย้ายถิ่นฐานไปอยู่กับชุมชนที่ใกล้เคียงที่สุด ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนที่อื่นอีกทอดหนึ่ง ที่แย่กว่าคือคนที่นั่นอาจไม่มีประสบการณ์รับมือกับฝูงลิงมาก่อนเลย ไม่เหมือนคนเมืองเพชรบุรีที่อยู่ร่วมกับลิงมาหลายรุ่น
นายยุทธพล ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562-2565 ตนในฐานะที่ปรึกษา รมว.ทส. ร่วมกับ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบโดยตรงในการจัดการดูแลลิง ซึ่งถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาลิงแสม ด้วยการทำหมัน และเฝ้าระวังโรค ตรวจสุขภาพ ทั้งในพื้นที่ จ.เพชรบุรี และทั่วประเทศรวม 32 จังหวัด
โดยได้ทำหมันและตรวจสุขภาพลิงไปแล้วทั้งหมด 25,000 ตัว เป็นลิงในพื้นที่ จ.เพชรบุรี 3,502 ตัว อยู่ในฝูงเขาวัง 563 ตัว และในปีงบประมาณ 2566 ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อทำหมันเพิ่มอีก 1,600 ตัว ไว้เรียบร้อยแล้ว
โดยกรมอุทยานฯ ได้มุ่งเป้าหมายการทำหมัน เฝ้าระวังโรค ตรวจสุขภาพ ไปยังจังหวัดที่มีปัญหาการควบคุมประชากรลิง เช่น ลพบุรี ทำหมันแล้ว 3,694 ตัว เพชรบุรี 3,502 ตัว ประจวบคีรีขันธ์ 2,280 ตัว ราชบุรี 2,155 ตัว ชลบุรี 1,922 ตัว เป็นต้น
นายยุทธพล กล่าวอีกว่า การจัดการปัญหาลิงแสมกับชุมชน ต้องทำด้วยความรู้ความเข้าใจ และใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัยข้อมูลนานนับปี ก่อนจะเลือกวิธีและแนวทางที่ดีที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่คิดออกได้วันนี้ แล้วพรุ่งนี้ทำเลย หัวใจสำคัญคือการแก้ไขปัญหาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชน และคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย ควบคู่กันไปอย่างสมดุล ขอให้พี่น้องประชาชนเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาได้เริ่มลงมือทำไปแล้วด้วยแนวทางที่ดีที่สุดที่เป็นไปได้ และมีมนุษยธรรมต่อทุกฝ่าย ซึ่งต้องอาศัยเวลาและการลงมือทำจริง ไม่ใช่เพียงการโยนไอเดียแนวคิดที่ไม่ผ่านการศึกษา ไม่สามารถทำจริงได้ เข้ามาให้สังคมสับสน เป็นเพียงการดึงลิงมาเล่นการเมือง
ด้าน นสพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือหมอล็อต นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับข้อกังวลของบางท่านเรื่องโรคระบาดฝีดาษลิง ว่าจะมีการระบาดจากลิงสู่คนหรือไม่ ขอให้ประชาชนสบายใจได้ จากการตรวจโรคลิงควบคู่ไปกับโครงการทำหมันลิงตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการตรวจโรคในลิงไปแล้วกว่า 25,000 ตัว จากจำนวนประชากรลิง 50,000 ตัว จากพื้นที่ 222 แห่งทั่วประเทศ ยืนยันว่ายังไม่มีการตรวจพบรอยโรคฝีดาษลิง ในสัตว์ป่าประเทศไทยแม้แต่ตัวเดียว
ขณะเดียวกัน กรมอุทยานฯ กำลังเตรียมตรวจสุขภาพลิงนำเข้าย้อนหลัง 1 ปี และยังมีการสุ่มตรวจสัตว์ที่มีการนำเข้าในตระกูลลิง และสัตว์ฟันแทะ จาก 97 ตัวอย่าง ยังไม่พบสัตว์ชนิดไหนมีโรคฝีดาษลิงเช่นกัน
ทั้งนี้ หมอล็อต อธิบายเพิ่มเติมว่า ชื่อโรค ฝีดาษลิงนั้น ในอดีตมีการนำเชื้อฝีดาษไปฉีดทดลองในลิง และลิงตอบสนองต่อไวรัสจนมีอาการของโรค จึงตั้งชื่อโรคว่า ฝีดาษลิง เพื่อแยกออกจากฝีดาษคน หรือไข้ทรพิษ แต่ไม่ได้แปลว่าโรคมีต้นกำเนิดจากลิง ในทางกลับกัน เป็นลิงที่ต้องระวังการติดโรคจากคนมากกว่า สรุปคือ โรคฝีดาษลิง คือฝีดาษชนิดหนึ่งที่ลิงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคเช่นเดียวกับมนุษย์ โดยมีกลุ่มสัตว์ฟันแทะเป็นตัวพาหะ
ที่ผ่านมา หลังมีข่าวการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในต่างประเทศ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. ได้สั่งการให้กรมอุทยานฯ เฝ้าระวัง และประสานงานกับกรมควบคุมโรค ร่วมกันกำหนดมาตรการคัดกรองผู้ป่วยที่ด่านขาเข้าประเทศ นอกจากนี้ ยังแบ่งปันข้อมูลร่วมกันในกรณีที่มีการตรวจพบผู้ป่วยฝีดาษลิง กรมควบคุมโรค จะแบ่งปันข้อมูลไทม์ไลน์ย้อนหลังของผู้ป่วยในช่วงระยะโรคฟักตัว ให้แก่กรมอุทยานฯ ว่าผู้ป่วยมีการเดินทางไปยังเขตอุทยานแห่งชาติ สวนสัตว์ หรือพื้นที่ที่มีลิงป่าอาศัยอยู่หรือไม่ เพื่อสืบสวนโรค และป้องกันการติดต่อจากคนสู่ลิง ที่ผ่านมา เราสามารถคัดกรองผู้ป่วยและควบคุมยอดการติดต่อในคนได้ดีมาก และยังไม่พบการระบาดในลิง ดังนั้นขอให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่อาศัยร่วมกับลิงคลายกังวลได้