ชัยนาท - เขื่อนเจ้าพระยาปักธงแดงเตือนสถานการณ์น้ำวิกฤต โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ พร้อมเตือนเฝ้าระวัง 8-13 ต.ค.น้ำทะเลหนุน บวกกับน้ำเหนือเขื่อน ทำให้ระดับน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาสูงขึ้น 10-30 เซนติเมตร
วันนี้ (7 ต.ค.) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา สำนักงานชลประทานที่ 12 ได้เปลี่ยนธงแสดงสถานการณ์น้ำที่ติดตั้งไว้บนสันเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จากธงสีเหลือง สถานการณ์น้ำเฝ้าระวัง เป็นธงสีแดง สถานการณ์น้ำวิกฤต เพื่อเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังแม่น้ำเจ้าพระยา และการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมแม่น้ำนอกแนวคันกั้นน้ำ แนวเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร และพื้นที่จุดเสี่ยงบริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เฝ้าระวังปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเวลา 17.00 น. แม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C2 จ.นครสวรรค์ มีปริมาณ 3,088 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เขื่อนเจ้าพระยา ระบายน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 2,912 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.สรรพยา ยังขยายวงกว้างมากขึ้น หลายพื้นที่แนวกระสอบทรายพัง คันดินกั้นน้ำขาด เพราะไม่สามารถต้านทานปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นทุกนาทีได้ เช่นพื้นที่ฝั่งตะวันตก คันดินกั้นน้ำบริเวณบ้านท่าทราย ม.1 ต.บางหลวง ถูกน้ำเซาะขาดช่วงกลางดึก น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว แม้ชาวบ้านจะเก็บข้าวของขึ้นที่สูงกันไว้ก่อนแล้ว แต่ปริมาณน้ำที่ทะลักเข้ามาไหลแรงและท่วมสูงขึ้นทุกนาที ทำให้ชาวบ้านต้องยกของหนีน้ำกันอย่างโกลาหล
นางสนิท มีแสง อายุ 76 ปี ชาวบ้าน ม.1 ต.บางหลวง ถูกตะขาบกัดที่นิ้วมือ ขณะกำลังขนของหนีน้ำ แต่กลัวจะเก็บของไม่ทัน เพราะอยู่กับหลาน 2 คน จึงยังไม่ยอมไปหาหมอ เริ่มมีอาการแน่นหน้าอก จึงต้องแจ้งอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูชัยนาทให้ช่วยพาไปส่งโรงพยาบาล ขณะที่ถนนในหมู่บ้านถูกน้ำทะลักเข้าท่วมทุกเส้นทาง น้ำที่ไหลท่วมถนนกระแสน้ำไหลแรง ทำให้ชาวบ้านเดินหนีน้ำออกไปลำบาก
นายสมใจ เกิดหลิน ซึ่งเป็นเจ้าของบ้านตรงจุดที่กระแสน้ำแรงไหลผ่านจึงได้นำเชือกไปผูกไว้ประตูหน้าบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านและเด็กๆ ใช้เป็นราวจับ ป้องกันไม่ให้ถูกน้ำพัดไป นายสมใจ บอกว่าคันดินที่กั้นแม่น้ำไว้และปิดทับด้วยกระสอบทรายต้านแรงน้ำไม่ไหว ถูกน้ำเซาะกลางดึก ชาวบ้านพยายามช่วยกันอุดน้ำแล้ว แต่เอาไม่อยู่ น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับพื้นที่ฝั่งตะวันออก แนวกระสอบทรายที่ ม.1 ม.2 ต.ตลุก ม.6 ม.9 ต.หาดอาษา ถูกน้ำเซาะพัง น้ำทะลักเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างรวดเร็วเช่นกัน ชาวบ้านต้องอพยพหนีน้ำขึ้นไปอาศัยริมถนนคลองมหาราชกันเป็นจำนวนมาก
ด้านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 49/2565 เรื่องเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจากการติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีน้ำหลากจากทางตอนเหนือไหลลงแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้น โดยวันที่ 6 ต.ค.เวลา 18.00 น. มีปริมาณน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 3,077 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะไหลมารวมกับแม่น้ำสะแกกรัง และลำน้ำสาขาไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยา
ปัจจุบันระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ +17.64 เมตร(รทก.) ซึ่งสูงกว่าระดับเก็บกัก 1.14 เมตร เพื่อรักษาเสถียรภาพความมั่นคงของบานระบายน้ำและตัวเขื่อนเจ้าพระยา กรมชลประทานจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำ ด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ +17.60 เมตร(รทก.) ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอยู่ในอัตรามากกว่า 2,900-3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2565 ประกอบกับกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ระดับน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร ป้อมพระจุลจอมเกล้า จังหวัดสมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียงจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ
โดยระดับน้ำจะมีความสูงประมาณ 1.90-2.20 เมตร(รทก.) ในช่วงวันที่ 8-13 ตุลาคม 2565 จึงขอให้เฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังนี้ 1.ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท อำเภออินทร์บุรี เมืองสิงห์บุรี และพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอป่าโมก และไชโย คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง คลองบางบาล อำเภอเสนา และผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.10-0.15 เมตร 2.บริเวณตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนนทบุรี กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสมุทรปราการ ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 0.15-0.30 เมตร