ประจวบคีรีขันธ์ - เปิดแล้ว "อาคารด่านพรมแดนสิงขร" รองรับการเข้าออกของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ กระตุ้นเศรษฐกิจการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว ประธานสภาอุตสาหกรรมประจวบฯ มั่นใจพม่าจะมีการพิจารณาเปิดให้มีการผ่านเข้าออกของบุคคล 2 ประเทศทางบกต่อไป
วันนี้ (2 ต.ค.) นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิดหน่วยบริการที่อาคารด่านพรมแดนสิงขร หรือ CIQ ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายธนนท์ พรรพีพาส นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ พ.ต.อ.สุทธิพงษ์ พุทธิพงษ์ ผกก.ตม.ประจวบคีรีขันธ์ น.ส.วรรณี ภู่หอมเจริญ นายด่านศุลกากรประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ ฝ่ายปกครอง ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ศุลกากร ด่านตรวจพืช ด่านตรวจสัตว์และด่านตรวจสัตว์น้ำ ด่านตรวจควบคุมโรค ผู้แทนจากสมาคมส่งเสริมพัฒนาการค้าการลงทุน ประจวบ-มะริด หอการค้า และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตลอดจนภาคเอกชนต่างๆ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
ทั้งนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างองค์ประกอบโครงการพัฒนาพื้นที่เฉพาะด่านสิงขร ประกอบด้วย อาคารด่านพรมแดน อาคารที่ทำการตรวจสอบ ถนนผ่านแดน ถนนภายในและภายนอกโครงการ อาคารบริการประชาชน และการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและอยู่ระหว่างการส่งมอบทรัพย์สินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า ขณะที่กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้เตรียมความพร้อมการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรผ่านจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ดังนั้น คณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านพม้า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการพื้นที่อาคารด่านพรมแดน โดยได้มีมติให้หน่วยงานที่มีภารกิจให้บริการประชาชนที่อาคารด่านพรมแดนสิงขร เช่น ด่านศุลกากร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ด่านตรวจควบคุมโรค ด่านกักกันสัตว์ ประมงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือเครื่องใช้ให้พร้อมปฏิบัติงานได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65
โดยปัจจุบัน จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรยังคงผ่อนผันให้เฉพาะการขนถ่ายสินค้าข้ามแดนเท่านั้น ส่วนการเปิดให้มีการเข้าออกของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ ขณะนี้ยังต้องรอการเจรจาเพื่อทำความตกลงร่วมกันกับทางการพม่าอีกครั้งเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติระหว่าง 2 ประเทศภายใต้เงื่อนไขของจุดผ่อนปรนพิเศษ อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลพม้าอนุญาตให้บุคคลเข้า และออกได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ เพราะเรามีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ที่อาคารด่านพรมแดนสิงขรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากทุกอย่างมีความพร้อมในก้าวต่อไปจะได้ผลักดันให้จุดผ่านแดนพิเศษด่านสิงขร เป็นด่านถาวรต่อไปในอนาคต
นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่าข้อมูลการค้าชายแดนจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร เป็นด่านชายแดนที่มีศักยภาพ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจสร้างรายได้แก่ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ได้อย่างดียิ่ง โดยในปี 2563 มีมูลค่าการค้าชายแดน 1,168 ล้านบาท ในปี 2564 เหลือมูลค่าการค้าชายแดนเพียง 331 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่วนในปี 2565 หลังสถานการณ์คลี่คลาย มีมูลค่าการค้าชายแดน ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม รวม 148 ล้านบาท ซึ่งมีสินค้าที่นำเข้าเป็นอาหารทะเลร้อยละ 90 จากจังหวัดมะริด ไม่ว่าจะเป็นกุ้งมังกร ปูทะเล หอยแครง ปลา และสัตว์น้ำ
ด้านนายนิพนธ์ สุวรรณาวา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวยอมรับว่า รู้สึกดีใจที่วันนี้เปิดอาคารด่านพรมแดนสิงขร และมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด่านสิงขร เข้าไปทำหน้าที่แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป มีความพร้อมทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ เทคโนโลยี ระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการประกาศให้พม่าทราบว่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมรองรับการเข้าและออก ทั้งของยานพาหะนะและบุคคลของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งมั่นใจว่าทางพม่าคงจะใช้เวลาไม่นานที่จะออกประกาศให้บุคคลเข้าออกเพราะจะส่งผลดีต่อทั้งสองประเทศ ทั้งการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว เพราะที่ผ่านมา สถานการณ์โควิด-19 เกือบ 3 ปี ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนอย่างหนัก
นางสุนิษา ปลอดโปร่ง แม่ค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ตลาดด่านสิงขร กล่าวว่า ก่อนหน้าสถานการณ์โควิด-19 มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวพม่า เดินทางเข้าออกผ่านแดนได้ ส่งผลให้การค้าคึกคักอย่างมาก เงินสะพัดกระจายรายได้ในพื้นที่สูง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จะมีรถทัวร์ รถตู้ และรถส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อสินค้าหลากหลายชนิด ทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ กล้วยไม้ สินค้าทางการเกษตร จิวเวลรี เครื่องประดับ และอื่นๆ
โดยเฉพาะการค้าชุมชน ที่ชาวบ้านชาวพม่านำสินค้าพื้นเมืองมาจำหน่าย สิ่งเหล่านี้เป็นแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้อย่างดี เชื่อว่าหากเปิดด่านสิงขรเต็มรูปแบบให้บุคคลเข้าออกได้ จะทำให้การค้าชายแดนกลับมาคึกคักมากกว่านี้แน่นอน แต่ตอนนี้ยอมรับว่าเริ่มทยอยมีร้านค้ากลับเข้ามาค้าขายมากกว่า 20 ร้านแล้วในขณะนี้ เพราะแม่ค้าพ่อค้าทุกคนยังหวังว่าทางพม่าจะเปิดให้บุคคลเข้าออกได้โดยเร็ว ช่วงนี้มีนักท่องเที่ยวต่างจังหวัดที่มาเป็นแบบรถบัส รถตู้ มาแวะจอดให้นักท่องเที่ยวลงมาเดินเลือกซื้อสินค้ากัน
“ช่อ” หญิงสาวอดีตล่าม ซึ่งเธออาศัยอยู่ที่บ้านมูด่อง ประเทศพม่า กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีการเปิดอาคารด่านพรมแดนสิงขรในครั้งนี้ ซึ่งชาวพม่า ที่เคยอาศัยอยู่บ้านมูด่อง ตรงข้ามด่านสิงขร หลังจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ทุกอย่างหยุดชะงักไม่สามารถเดินทางข้ามมาทำงาน ซื้อของฝั่งไทยได้ และยังขาดรายได้ รวมทั้งตนเองเป็นล่ามพาคนไทยเข้ามาเที่ยวมะริด และพาชาวพม่าไปเที่ยวประจวบฯ ต้องหันมารับซื้อกุ้งแม่น้ำจากเมืองตะนาวศรี และส่งเข้าไทยผ่านด่านสิงขร เพื่อไปที่อยุธยา และกรุงเทพฯ ตามออเดอร์ ซึ่งอยากเห็นทางรัฐบาลพม่า ประกาศให้มีการเดินทางเข้าออกทางจุดนี้ได้โดยเร็ว เพราะชาวพม่าอยากที่จะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเมื่อถึงตอนนั้พร้อมที่จะกลับมาเป็นล่ามเหมือนเดิม
ขณะเดียวกัน “หนุ่ม” บริษัทชิปปิ้งที่เข้ามารับจ้างนำสินค้าเข้าและออกอยู่ที่จุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร ยอมรับว่า การนำเข้าสินค้าจากพม่า ส่วนใหญ่ยังคงเป็นสินค้าสัตว์น้ำ ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลาต่างๆ จากจังหวัดมะริด ร้อยละ 90 ที่เหลือเป็นพืชเกษตรที่อนุญาตให้นำเข้ามาอย่างกล้วยน้ำว้า ยอมรับว่าถึงแม้ปริมาณสินค้าจะยังเข้ามาไม่มากเหมือนก่อนสถานการณ์โควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา แต่ถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ยิ่งเมื่อจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เปิดอาคารด่านพรมแดนถาวรสิงขร อย่างเป็นทางการแล้ว เป็นการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ผู้ประกอบการทั้งไทยและพม่า เหลือทางพม่าที่จะประกาศเปิดให้มีการเข้าออกทางบก เชื่อว่าจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะทำงานประสานงานภาครัฐ เอกชนไทย-พม่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ได้มีหารือการเตรียมพร้อมเปิดจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขร โดยได้ข้อสรุปเสนอคณะกรรมการศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านด้านพม่า จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเจรจาทำความตกลงกับฝ่ายพม่า ดังนี้ 1.มาตรการเดินทางเข้าออกของบุคคล อนุญาตให้บุคคลที่มีสัญชาติไทยและพม่า เดินทางเข้าออกจุดผ่อนปรนพิเศษด่านสิงขรเท่านั้น โดยไทยสามารถเดินทางได้ถึงจังหวัดมะริด พำนักได้ไม่เกิน 14 วัน 13 คืน ส่วนพม้าสามารถเดินทางเข้ามาได้เฉพาะในเขตพื้นที่ อ.เมืองประจวบฯ พำนักได้ไม่เกิน 4 วัน 3 คืน โดยใช้เอกสารการเดินทางเข้าออกได้แก่ บัตรผ่านแดน และบัตรผ่านแดนชั่วคราว อีกทั้งประชาชนทั้งไทยและพม่าจะต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด 2.มาตรการเดินทางเข้าออกของยานพาหนะ อนุญาตให้ยานพาหนะตั้งแต่ 4 ล้อขึ้นไปของทั้ง 2 ประเทศ สามารถเดินทางเข้าออกได้เฉพาะเพื่อการบรรทุกสินค้า โดยสามารถเข้าออกได้เฉพาะพื้นที่จุดขนถ่ายสินค้าเท่านั้น ส่วนยานพาหนะอื่นๆ หรือเจ้าหน้าที่ต้องแจ้งด่านศุลกากร และตรวจคนเข้าเมืองก่อนการเข้าออกทุกครั้ง โดยไทยสามารถนำยานพาหนะไปได้ถึงบ้านมูด่อง ต.ตะนาวศรี อ.ตะนาวศรี จังหวัดมะริด ส่วนพม่าสามารถนำยานพาหนะเข้ามาได้ถึงตลาดด่านสิงขร
3.มาตรการเดินทางเข้าออกของสิ่งของ ก่อนการนำเข้าส่งออก ผู้ประกอบการต้องแจ้งรายละเอียดให้ทางจังหวัดทราบล่วงหน้าก่อน 1 วัน และต้องมีใบอนุญาตก่อนการนำเข้า-ส่งออกแสดงต่อเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง อีกทั้งผู้ประกอบการต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สำหรับการสุ่มตรวจสินค้าที่นำเข้า-ส่งออก เพื่อป้องกันสิ่งของผิดกฎหมาย 4.การเดินทางเข้าออกของบุคคล ยานพาหนะ และสิ่งของ สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 06.30-18.30 น.ของทุกวัน