ตราด - คาดมูลค่าค้าชายแดนตราดปี 65 ทะลุกว่า 3.2 หมื่นล้าน แม้โควิด-19 ทำให้ต้องปิดชายแดน ขณะ ผวจ.ตราด จับมือเอกชนผลักดันเปิดจุดผ่านแดนเพิ่ม พร้อมยกระดับจุดผ่อนปรนบ้านมะม่วงเป็นจุดผ่านแดนถาวร ด้านเศรษฐกิจภาพรวมขยายตัวร้อยละ 4.4 จากปัจจัยบวกเกษตรดี ลงทุนอุตฯ บริการเติบโต
วันนี้ (29 ก.ย.) นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เผยถึงการเติบทางเศรษฐกิจของจังหวัดในปี 2565 ว่า แม้จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่การเติบทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับที่น่าพอใจ และจากการประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของ จ.ตราด ในปี 2565 คาดว่า GPP จะขยายตัวขึ้นร้อยละ 4.4 โดยอุปทานด้านเกษตรกรรม เติบโตขึ้นร้อยละ 1.3 อุตสาหกรรมโตขึ้นร้อยละ 3.0 และภาคบริการโตขึ้นร้อยละ 8.7
โดยมีอุปสงค์ด้านงานบริโภคเอกชนที่เติบโตขึ้นร้อยละ 1.9 การลงทุนเอกชนโตขึ้นร้อยละ 7.8 การใช้จ่ายภาครัฐโตขึ้นร้อยละ 0.7 และการค้าชายแดนโตขึ้นร้อยละ 1.9
ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ จ.ตราด พบอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 มีผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 และรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8
ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ยังกล่าวอีกว่าในอนาคตเมื่อการพัฒนาสนามบินตราด โดยบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ได้นำเสนอแผนดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี ซึ่งจะมีทั้งการขยายทางวิ่ง (Runway) จากความยาว 1,800 เมตร เป็น 2,120 เมตร เพื่อให้รองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจากที่เคยรองรับเครื่องบิน ATR70-600 ให้สามารถรองรับเครื่องบิน Airbus A319 Airbus A320
และการพัฒนาอาคารที่พักผู้โดยสาร หอบังคับการบิน และลานจอดอากาศยาน เป็นต้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดตราดมากขึ้น
ขณะเดียวกัน จ.ตราด และภาคเอกชนยังได้ร่วมมือกันผลักดันให้มีการเปิดจุดผ่านแดนบ้านท่าเส้น อ.เมืองตราด ให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร ซึ่งจะเชื่อมต่อกับจุดผ่านแดนถาวรบ้านทมอดา อ.เวียงเวล จ.โพธิสัต ประเทศกัมพูชาเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนทั้ง 2 ประเทศสามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวกขึ้น
เช่นเดียวกับจุดผ่อนปรนบ้านมะม่วง อ.บ่อไร่ ที่เชื่อมต่อกับช่องเนิน 400 อ.สัมรูด จ.พระตะบอง ที่จะมีการยกระดับให้เป็นจุดผ่านแดนถาวร
ตัวเลขค้าชายแดน 10 เดือนแรกปี 2565 ทะลุกว่า 2.8 หมื่นล้าน
โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 จ.ตราด มีมูลค่าการค้าชายแดนบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ กว่า 28,203 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 2 เดือนที่เหลือจะมีมูลค่าการค่าเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4,000-5,000 ล้านบาท และเมื่อรวมมูลค่าการค้าตลอดปี 2565 เชื่อว่าจะมีมูลค่ามากถึง 32,000-33,000 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 2564 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 31,278 ล้านบาท และปี 2563 มีมูลค่าการค้ารวมประมาณ 32,474 ล้านบาท
ทั้งนี้ โครงสร้างทางเศรษฐกิจของ จ.ตราด ประกอบด้วยภาคการเกษตร 47% บริการ 44% ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม 9% โดยมีผู้มีงานทำ 171,731 คนจากจำนวนประชากรทั้งจังหวัด 275,198 คน ไม่รวมที่ย้ายสำมะโนครัวเข้ามาอยู่ จ.ตราด