ฉะเชิงเทรา - ได้ข้อยุติ! ปัญหาชาวบ้านเมืองแปดริ้ว และต่างชาติสร้างโกดังเก็บเม็ดพลาสติก หลัง ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมตั้งโต๊ะเจรจา เบื้องต้น ชาวบ้านยอมเปิดทางให้ตอกเสาเข็ม 387 ต้น หลังจากนั้นบริษัทต้องซ่อมแซมอาคารเสียหาย
จากกรณีที่ชาวบ้านในชุมชนหน้าวัดทดราษฎร์เจริญมณีฤทธิ์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ม.5 ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ได้รวมตัวกันร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานในพื้นที่และสื่อมวลชน เพื่อให้ดำเนินการกับบริษัทต่างชาติที่ทำการก่อสร้างโกดังเก็บเม็ดพลาสติกบนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ซึ่งอยู่ติดกันกับแนวอาคารพาณิชย์ขนาด 3 ชั้น รวม 18 คูหา ริมถนนสาย 304 ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี
และยังได้ทำการตอกเสาเข็มด้วยความลึก 24 เมตร จำนวน 387 ต้น จนทำให้ตัวอาคารเกิดการแตกร้าวพังเสียหาย และที่ผ่านมา ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานในพื้นที่นั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเย็นวานนี้ (24 มิ.ย.) นายวราห์ เขินประติยุทธ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรม จ.ฉะเชิงเทรา ได้นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมเชิญตัวแทนเจ้าของโครงการก่อสร้างโกดังที่มี นายอลงกรณ์ สวนดี วิศวกรโครงการ เข้าร่วมเจรจากับตัวแทนฝ่ายชาวบ้านที่ประกอบด้วย นายสันต์ ศรีเจริญ น.ส.กัญจนานันท์ สื่อสวัสดิ์วณิชย์ น.ส.สุวรรณ คงโฉลง และนายเดชชัย สุจิวัฒน์
นอกจากนั้น ยังมี นายพัลลภ ชูสว่าง นายก อบต.คลองนา และเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติกรร่วมรับฟังแนวทางการแก้ไขปัญหาในฐานะคนกลาง
โดยผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเจรจาในช่วงเย็นที่ผ่านมามีข้อโต้แย้งหลายประการที่ไม่สามารถตกลงกันได้ และใช้เวลายาวนานเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งสุดท้ายตัวแทนเจ้าของโกดังซึ่งเป็นของชาวต่างชาติยังยืนยันว่าจะไม่ยุติการตอกเสาเข็มและจะไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการตอกเสาเข็มให้เป็นแบบเจาะเพื่อลดผลกระทบตามที่ชาวบ้านร้องขอ
และยังยืนกรานให้ทางฝ่ายชาวบ้านดำเนินการทางกฎหมายและฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในกระบวนยุติธรรมกันเอง โดยอ้างว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการตอกเสาเข็มตามที่ชาวบ้านร้องขอบริษัทจะต้องเพิ่มต้นทุนการทำงานอีก 7 ล้านบาท และยังจะทำให้วงเงินสัญญาการประกันภัย จำนวน 3 ล้านบาทสิ้นสุดลงทันที
ทั้งนี้ ตัวแทนโครงการก่อสร้างโกดังสินค้ายังยื่นข้อเสนอว่า หากชาวบ้านยินยอมให้บริษัททำการตอกเสาเข็มให้แล้วเสร็จจนครบทั้ง 387 ต้น บริษัทจะเร่งเข้าซ่อมแซมอาคารพาณิชย์ที่แตกชำรุดเสียหายให้ตามความเป็นจริงภายใน 7 วัน จึงทำให้การเจรจาในเบื้องต้นสามารถยุติลงได้ และหลังจากนี้จึงจะมีการจัดทำหนังสือบันทึกข้อตกลงร่วมกันในภายหลังอีกครั้ง