xs
xsm
sm
md
lg

คนเชียงใหม่ร่วมใจปลูกต้นไม้ทับบ้านพักศาลลบรอย “ป่าแหว่ง” ฟื้นดอยสุเทพ-เผยภาพมุมสูงดูคล้าย “ขลำ” หวั่นกาลกิณี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เชียงใหม่ - เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพนำชาวเชียงใหม่ร่วมกิจกรรม “ปอยป่าแหว่ง” ชมบ้านพักหรูศาลอุทธรณ์ภาค 5 หลังได้รับคืนระยะแรก 45 หลัง พร้อมจัดพิธีกรรมล้านนาเรียกขวัญดอยสุเทพ และปลูกป่าฟื้นฟูลบรอยป่าแหว่ง ขณะเดียวกันจี้เร่งคืนอาคารชุดที่เหลืออีก 9 หลังโดยเร็ว หวั่นกาลีบ้านกาลีเมือง เหตุสภาพพื้นที่มองจากมุมสูงดูแล้วสุดอุบาทว์คล้ายอวัยวะเพศผู้ชาย


วันนี้ (19 มิ.ย. 65) ที่สันเขื่อนอ่างเก็บน้ำแม่จอก โครงการชลประทานเชียงใหม่ (ด้านหลังสนามกีฬา 700 ปี เชียงใหม่) ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพจัดกิจกรรม “ปอยป่าแหว่ง” นำชาวเชียงใหม่ทุกภาคส่วนจำนวนหลายร้อยคนร่วมกันเยี่ยมชมและปลูกป่าฟื้นฟูสภาพป่าดอยสุเทพ บริเวณโครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เบื้องต้นในระยะแรกมีการส่งมอบคืนพื้นที่ให้กรมธนารักษ์ในส่วนของบ้านพัก 45 หลัง เนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ จากทั้งหมดประมาณ 147 ไร่ เพื่อเปิดทางให้ภาคประชาชนและชาวเชียงใหม่เข้าทำการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพป่าได้ทันช่วงฤดูฝนปีนี้ ด้วยพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ ได้แก่ ต้นโพธิ์, ต้นไทร, ต้นหว้า, ต้นมะค่า, ต้นสัก, ต้นยาง เป็นต้น


กิจกรรมดังกล่าวนี้มีการตั้งขบวนแห่ที่นำโดยพระสงฆ์ พร้อมด้วยเครื่องสักการะ, ตุง, กลอง, ฆ้อง และช่างฟ้อน เดินเคลื่อนขบวนจากสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำแม่จอก ผ่านป่าเชิงดอยสุเทพเข้าไปยังพื้นที่โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความสำเร็จขั้นหนึ่งของชาวเชียงใหม่ ในการยืนหยัดเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพตลอดช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา 

จากนั้นมีการประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีกรรมแบบล้านนา เพื่อเป็นการฮ้องขวัญ (เรียกขวัญ) ดอยสุเทพ และบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองปกป้องรักษาดอยสุเทพให้ได้รับรู้รับทราบถึงการคืนพื้นที่ป่า พร้อมการแสดงทางวัฒนธรรมและปักป้ายจารึกอักษรอนุสรณ์ “บ้านป่าแหว่ง” ก่อนที่จะร่วมกันปลูกป่าฟื้นฟูทั่วพื้นที่


นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งของชาวเชียงใหม่ในการยืนหยัดเรียกร้องขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งต้องขอบคุณทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 และทางธนารักษ์ที่ให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ตาม ยังเหลือในส่วนของอาคารชุดอีก 9 หลัง ที่ทางเครือข่ายฯ และชาวเชียงใหม่จะยังคงติดตามเรียกร้องอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะส่งมอบคืนพื้นที่ให้ตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน โดยมีกำหนดว่าผู้อยู่อาศัยจะต้องย้ายออกและส่งมอบคืนพื้นที่ให้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จังหวัดเชียงรายสร้างเสร็จ ซึ่งสัญญาก่อสร้างกำลังจะครบกำหนดในวันที่ 7 ก.ย. 65 นี้แล้ว โดยถ้าหากผู้ที่อยู่อาศัยไม่สามารถย้ายออกไปได้ทันตามกำหนดจริงๆ มองว่าสามารถพูดคุยเจรจากันได้ในประเด็นความจำเป็นต้องขออยู่อาศัยต่อไป แต่อย่างน้อยควรจะต้องมีการส่งมอบพื้นที่คืนให้ธนารักษ์เสียก่อน


นอกจากนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพย้ำว่า ทางเครือข่ายฯ มีจุดยืนชัดเจนว่าต้องการขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ และฟื้นฟูให้กลับไปมีสภาพสมบูรณ์ดังเดิมมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งการปลูกป่าในครั้งนี้ยังเป็นเพียงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ครอบคลุมและปกปิดร่องรอยบาดแผลของดอยสุเทพเท่านั้น แต่ในอนาคตเห็นควรว่ายังจะต้องทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและอาคารออกไปทั้งหมดด้วย 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการคืนพื้นที่บ้านพัก 45 หลัง และปลูกป่าฟื้นฟูแล้ว แต่ต้องยอมรับว่ายังเป็นเพียงการลบร่องรอยบาดแผลได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะหากสังเกตจากภาพถ่ายทางอากาศหรือมองจากมุมสูงแล้วจะพบว่ารูปร่างหน้าตาของพื้นที่ที่ยังไม่มีการส่งมอบคืนอาคารชุด 9 หลังนั้น จะดูคล้ายอวัยวะเพศผู้ชายหรือที่คนเหนือเรียกว่า “ขลำ” (ขะ-หลำ) ซึ่งเป็นภาพอุบาทว์ที่สร้างบาดแผลในใจให้ชาวเชียงใหม่อยู่ดี จากเดิมที่ดูคล้ายรูปฝ่าเท้า และถือว่าเป็นกาลกิณี (ขึด) ตามความเชื่อของคนล้านนาด้วย ดังนั้น หากเป็นไปได้อยากให้เร่งส่งมอบคืนพื้นที่ที่เหลือให้ครบโดยเร็วที่สุดเพื่อปลูกป่าฟื้นฟู และขจัดกาลกิณีให้หมดสิ้นไป














กำลังโหลดความคิดเห็น