เชียงใหม่ - เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพนัดรวมพลใหญ่ 19 มิ.ย. 65 จัด "ปอยป่าแหว่ง" นำชาวเชียงใหม่และมวลชนเยี่ยมชมบ้านพักหรูศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมร่วมพิธี "ฮ้องขวัญดอยสุเทพ" และหว่านเมล็ดพันธุ์ทั้งต้นไทรต้นโพธิ์ให้เติบใหญ่ปกคลุมเขียวทึบทดแทนรอยแผลแห่งความอัปยศ ฟื้นผืนป่าให้สมบูรณ์ดังเดิม
วันนี้ (8 มิ.ย.) นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 65 กรมธนารักษ์ได้รับมอบคืนพื้นที่โครงการ บ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งตั้งอยู่พื้นที่เชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เบื้องต้นในระยะแรกเฉพาะบ้านพัก 45 หลัง เนื้อที่ประมาณ 85 ไร่ จากทั้งหมดประมาณ 147 ไร่ เพื่อเปิดทางให้ภาคประชาชนและชาวเชียงใหม่เข้าทำการปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพป่าได้ทันช่วงฤดูฝนปีนี้ หลังที่เกิดปัญหายืดเยื้อไม่มีการส่งมอบคืนพื้นที่เสียทีตั้งแต่ปี 2561 ส่วนอาคารชุดที่เหลืออีก 9 หลังและยังมีผู้พักอาศัยอยู่จะดำเนินการในระยะต่อไปนั้น
ในวันที่ 19 มิ.ย. 65 นี้ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ที่สันเขื่อนอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง หลังสนามกีฬา 700 ปี ทางเครือข่ายฯ กำหนดจัดงาน "ปอยป่าแหว่ง" นำประชาชนชาวเชียงใหม่และผู้สนใจ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวนนับพันคนเข้าเยี่ยมชมสภาพพื้นที่บ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 และร่วมกันปลูกป่าฟื้นฟูในพื้นที่ดังกล่าว
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงทางวัฒนธรรมล้านนา และย้ำจุดยืนขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ พร้อมตั้งขบวนเดินเท้าจากสันเขื่อนอ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง เข้าไปยังพื้นที่บ้านพัก จากนั้นประกอบพิธีกรรม "ฮ้องขวัญดอยสุเทพ" ตามความเชื่อ และร่วมกันปลูกต้นไม้ฟื้นฟูสภาพป่า เน้นการปลูกต้นไทรและต้นโพธิ์โดยการหว่านเมล็ด รวมทั้งต้นตีนตุ๊กแก เพื่อหวังให้เจริญเติบโตปกคลุมเขียวทั่วทั้งพื้นที่และช่วยปกปิดรอยแผลแห่งความอัปยศ
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินการในส่วนกรมธนารักษ์นั้น ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพบอกว่า จากการติดตามจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เชียงใหม่ ทราบว่ากำลังเร่งดำเนินการในส่วนของครุภัณฑ์ต่างๆ ในบ้านพัก ขณะที่ในส่วนของพื้นที่นั้น ทางธนารักษ์อยู่ระหว่างการประสานสอบถามไปยังกองทัพบก โดยมณฑลทหารบกที่ 33 ซึ่งเป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์อยู่เดิมว่าต้องการจะรับมอบพื้นที่ไปอยู่ในความดูแลหรือไม่อย่างไร หากไม่รับทางธนารักษ์ก็จะเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพื้นที่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าพื้นที่จะอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใดก็ตาม แต่ข้อตกลงร่วมกันของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นและจุดยืนของเครือข่ายฯ ก็คือการปล่อยพื้นที่ให้มีสภาพเป็นป่าดังเดิม โดยไม่มีหน่วยงานใดๆ เข้าไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ ต้องส่งมอบคืนพื้นที่ให้ครบทั้งหมดรวมทั้งอาคารชุดที่เหลืออีก 9 หลังตามข้อตกลงด้วย ส่วนสิ่งก่อสร้างที่ยังคงอยู่นั้น ยืนยันเช่นกันว่าต้องรื้อทิ้ง เพียงแต่ในเวลานี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งตราบใดที่ยังไม่มีการรื้อทิ้งก็จะเท่ากับเป็นตราบาปและสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงความอัปยศจากน้ำมือของหน่วยงานราชการกระทำย่ำยีกับผืนป่าดอยสุเทพไปตลอด