xs
xsm
sm
md
lg

ฮือฮา! กำนันสาวแก่งโสภาพบ “เต่าหับ” กระดองลายคล้าย “พระสมเด็จ” ชัดเป๊ะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิษณุโลก - กำนันสาวแก่งโสภาพบ “เต่าหับ” ลายกระดองคล้าย “พระสมเด็จ” ชัดเจน ระหว่างร่วมทีมค้นหาคนหาย เชื่อเป็นสัตว์นำโชคพาลาภมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ



วันนี้ (11 พ.ค. 65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊ก “กำนันปลา” นางสาววรรณพร เตชะพันธ์รัตนกุล กำนันตำบลแก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก ได้โพสต์ภาพ “เต่าหับ” ที่มีลวดลายบนกระดองคล้ายพระสมเด็จ พร้อมบรรยายว่า “เจอเต่ากลางถนนเลยช่วยชีวิต ให้โชคให้ลาภลูกด้วยเทอญ สาธุค่ะ” จากนั้นมีกลุ่มเพื่อนได้กดไลก์-แชร์ต่อ และแสดงความคิดเห็นกันอย่างมากมาย

นางสาววรรณพร หรือกำนันปลา เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า เมื่อคืนวันที่ 10 พ.ค.ที่ผ่านมา ระหว่างตนขับรถยนต์ออกจากบ้านไปตามถนนสายวังทอง-หล่มสัก เพื่อไปร่วมภารกิจติดตามค้นหาชาวบ้านหลงป่า ซึ่งต่อมาพบผู้สูญหายเสียชีวิตคาอยู่บนกิ่งไม้สูงจากพื้นถึง 5 เมตร ก็พบเต่าขนาดใหญ่ 1 ตัว กำลังเดินอยู่ริมถนน ตนจึงจอดลงไปดูเพราะเกรงว่ารถราที่วิ่งอยู่บนถนนจะเหยียบเต่าจนได้รับอันตราย

จากนั้นได้อุ้มเต่าตัวดังกล่าวใส่รถยนต์ไว้ และไปร่วมพูดคุยกับชาวบ้านจนเสร็จงาน ก็นำเต่าตัวดังกล่าวกลับบ้าน เตรียมจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

แต่พอจับเต่าขึ้นดู ก็พบว่าบริเวณกระดองเต่ามีสีเหลือง และมีลายเป็นบล็อกสี่เหลี่ยม คล้ายพระสมเด็จ พระเครื่องชื่อดัง ขณะที่ชาวบ้านที่เห็นก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่านี่คือ “เต่าหับ” หรือเต่าภูเขา ตนจึงนำมาถ่ายรูปและโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว พร้อมกับเลี้ยงไว้ชั่วคราวในวงบ่อปูน

“คำโบราณก็ว่าไว้ว่า..เจอเต่า จะมีโชค อีกทั้งลายกระดองของเต่าตัวนี้ก็คล้ายพระสมเด็จ จึงต้องนำเต่าไปเลี้ยงไว้ก่อน และจะปรึกษากับครอบครัวอีกครั้งถึงการนำไปปล่อยคืนธรรมชาติ”

ทั้งนี้ “เต่าหับ” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Cuora amboinensis เป็นสัตว์เลื้อยคลานจำพวกเต่า รูปร่างคล้ายเต่านา มีกระดองโค้งนูนสูง ใต้ท้องแบ่งเป็น 2 ตอน ซึ่งเรียกว่า “แผ่น” หรือ “หับ” หรือ “ขีด” สามารถเก็บขา หัว และหางเข้ากระดองได้มิดชิด อันเป็นที่มาของชื่อ หัวมีขนาดเล็กสีเหลืองมีลวดลายสีดำ กระดองสีน้ำตาลเข้ม ใต้ท้องสีขาวหรือสีเหลือง ขามีผังผืด โตเต็มที่ประมาณ 25 เซนติเมตร สามารถพบได้ในแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคกลางและภาคใต้ ว่ายน้ำได้ดี แต่ชอบอยู่บนบกที่มีความชื้นมากกว่าลงน้ำ

สถานะเต่าหับมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี พ.ศ. 2535 รอบ 10 ปีที่ผ่านมาพบมีการลักลอบซื้อขายเต่าหับจำนวนมาก นอกจากเป็นสัตว์เลี้ยงแล้ว ยังเป็นสัตว์นำโชค โดยผู้คนเชื่อว่าจะนำโชคลาภมาสู่ผู้เป็นเจ้าของ โดยเฉพาะเต่าหับ ที่ใต้ท้องมีมากกว่า 2 หรือ 3 ตอน และมีการนำกระดองไปทำเป็นเครื่องรางของขลังอีกด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น