ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยาจัดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นประชาชน ครั้งที่ 3 ในโครงการศึกษาจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียพัทยา-นาเกลือ หลังพบหลายพื้นที่ยังไม่มีการรวบรวมบำบัดน้ำเสีย
จากกรณีที่เมืองพัทยาได้มีการว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดการประชุมโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียพื้นที่พัทยาและนาเกลือ เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาระบบจัดการน้ำเสียในภาพรวมของเมืองพัทยา
หลังพบว่าที่ผ่านมาการรองรับน้ำเสียเพื่อเข้าสู่ระบบการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ และอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้
โดยพื้นที่โครงการที่จะดำเนินการเพิ่มเติมประกอบด้วย โรงบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ซอยหนองใหญ่ ระบบรวบรวมน้ำเสียพื้นที่พัทยาและนาเกลือ ระยะทาง 28.3 กิโลเมตร และพื้นที่สาธารณะริมคลองพัทยาใต้นั้น
วันนี้ (10 พ.ค.) เมืองพัทยา ได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นครั้งที่ 3 และเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการจ้างที่ปรึกษาในการศึกษาออกแบบรายละเอียดสำหรับโครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียพื้นที่พัทยาและนาเกลือ โดยมี เรือตรีปราโมทย์ ทับทิม ปลัดเมืองพัทยา เป็นประธานเปิดกิจกรรม และมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนเอกชน ผู้แทนท้องถิ่น ผู้แทนชุมชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วม
ปลัดเมืองพัทยา เผยว่า ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา ที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเสียถูกปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยระบบดังกล่าวตั้งอยู่ที่โรงบำบัดหนองใหญ่ มีขีดความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้ 65,000 ลบ.ม.ต่อวัน
แต่ปัจจุบันพบว่าจากการเจริญเติบโตของเมืองพัทยาทำให้ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นมีมากกว่า 75,000 ลบ.ม.ต่อวัน จนทำให้มีปัญหาน้ำที่ยังไม่ผ่านการบำบัดถูกปล่อยทิ้งลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยว
โดยเฉพาะในพื้นที่กว่า 28 ตร.กม.ซึ่งอยู่ในโซนหนองใหญ่ พัทยา และนาเกลือ ที่ยังไม่มีการต่อเชื่อมระบบเข้าสู่การบำบัด จนต้องว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้จัดทำโครงการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างระบบรวบรวมและระบบบำบัดน้ำเสียเพิ่มเติมให้ครอบคลุม
และยังได้นำเสนอผลการออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างในส่วนที่มีการปรับปรุงส่วนต่อขยายระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยาที่มีความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสังคม พร้อมจัดให้มีการประชาพิจารณ์เพื่อให้ประชาชนรับทราบและร่วมแสดงความคิดเห็น
โดยตามแผนงานจะมีการก่อสร้างอาคารดักน้ำเสีย จำนวน 8 จุด ที่สามารถรองรับน้ำเสียและทำการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ในงบประมาณก่อสร้างกว่า 218 ล้านบาท และภายหลังการจัดประชาพิจารณ์แล้วจะได้นำเสนอแผนแม่บทเพื่อพิจารณาความเห็นชอบก่อนนำเสนอต่อรัฐบาลในการสนับสนุนงบประมาณต่อไป