xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านคะแนงพบฟอสซิลหอยสองฝาอายุกว่า 200 ล้านปี ต้นน้ำลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พะเยา - นักวิชาการตามพิสูจน์ถึงต้นลำห้วยน้ำลาว-พื้นที่วิจัยชาวบ้าน..หลังพบฟอสซิลหอยสองฝา อายุกว่า 200 ล้านปี แถมเจอฟอสซิลฟันกรามช้างด้วย


สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับชุมชนบ้านคะแนง หมู่ 10 ต.แม่ลาว อ.เชียงคำ จ.พะเยา ได้ลงสำรวจพื้นที่งานวิจัยชาวบ้านคะแนง ที่ได้พบฟอสซิลหอยในก้อนหินในแม่น้ำลาว และได้นำตัวอย่างส่งให้ผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาตรวจสอบพบว่าเป็นฟอสซิลหอยสองฝา สกุล Daonella อายุกว่า 200 ล้านปี

ดร.รัตนาภรณ์ ฟองเงิน อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการสำรวจดูหินในลำห้วยแม่ลาว พบอยู่ 3 ชนิด ซึ่งหินที่พบเยอะที่สุดคือหินตะกอนภูเขาไฟหรือหินทราย ลักษณะออกสีเขียวๆ เนื้อแข็งมาก พวกนี้มีคุณค่าคือมีซากฟอสซิล ซากหอย จัดอยู่ในหมวดหินฮ่องหอย (Hong Hoi Formation) กลุ่มหินลำปาง Lampang Group จากที่ดูเป็นหอยสองฝา สกุล Daonella สามารถบอกช่วงอายุได้คือประมาณ 200 ล้านปี ชนิดที่สองเป็นหินตะกอนภูเขาไฟสีแดง และชนิดที่สามคือ หินปูนที่อยู่บนภูเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูลังกา

จากลักษณะหินที่พบจาก 2 ใน 3 ชนิด สำหรับ “หอยสองฝาสกุล Daonella” ที่เจอในหินสีเขียว อยู่ในชั้นหินภูเขาน่าจะมีเยอะอยู่พอสมควร เพราะแค่เรานั่งอยู่ตามหาดหินก็เจอได้ง่าย และหอยพวกนี้สามารถบอกช่วงอายุของมันได้แน่นอน เพราะฉะนั้นการพบเจอมันแสดงให้เห็นว่าพื้นที่นี้มีคุณค่าทางธรณีวิทยาค่อนข้างสูง

ชาวบ้านบอกกันมาว่าลำห้วยแม่ลาวเป็นห้วยที่ไหลลงมาจากช่องหินปูน สุดห้วยเป็นตาน้ำผุดออกมาจากใต้ผิวดินกลายเป็นลำห้วยสาขาลงสู่แม่น้ำลาว เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ซึ่งในลำห้วยนี้นอกจากจะพบซากฟอสซิลหินแล้ว ชาวบ้านยังพบฟันกรามของช้าง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางธรณีวิทยาระบุว่าเป็นฟันกรามของช้าง สายพันธุ์ปัจจุบัน Elephas ด้วย

"การพบซากของเปลือกหอยสองฝา บ่งชี้ว่าต้นน้ำลาวเป็นพื้นที่สำคัญทางธรณีวิทยา หลายล้านปีก่อนเคยเป็นทะเล กระทั่งแผ่นเปลือกโลกได้เคลื่อนตัวจากการระเบิดของภูเขาไฟ”






กำลังโหลดความคิดเห็น