xs
xsm
sm
md
lg

ชาวลำพูนฮือซ้ำ! ร้องถึงผู้ว่าฯ จี้ฟาร์มหมูติดชุมชนแก้กลิ่นเหม็น-บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำพูน - ชาวบ้านในลำพูนรวมตัวร้องเรียนซ้ำถึงผู้ว่าฯ..เรียกร้องแก้ปัญหาผลกระทบฟาร์มหมูขนาดใหญ่ตั้งติดชุมชน ส่งกลิ่นเหม็นคลุ้ง-ปล่อยน้ำเสียจากบ่อบำบัดลงลำเหมืองสาธารณะ


วันนี้ (3 พ.ค. 65) นายสมฤทธิ์ ใบยา นางปัณณวีร์ วงษ์ประเสริฐ นางสาวนภัสนันท์ นันท์ทัตจิรโชติ พร้อมชาวบ้านกิ่วมื่น หมู่ที่ 8 ต.มะเขือแจ้ อ.เมืองลำพูน รวมกว่า 50 คน เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนถึงปัญหาผลกระทบจากฟาร์มหมู KTN Farming ต่อนายวรยุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ซึ่งมอบหมายให้นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าฯ-หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารับเรื่อง

นายสมฤทธิ์ ตัวแทนชาวบ้านกิ่วมื่น เผยว่า ฟาร์มสุกร "เกษรฟาร์ม" ซึ่งในปัจจุบันคือ "KTN Farming" ที่ดำเนินกิจการมามากกว่า 20 ปีและตั้งอยู่ห่างจากชุมชนไม่ถึง 1 กิโลเมตร เดิมไม่ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนมากนักเพราะเป็นฟาร์มขนาดเล็ก

กระทั่งปี 2562 ทางฟาร์มขยายโรงเรือนและเพิ่มจำนวนสุกรขึ้น โดยไม่ได้ผ่านการทำประชาคมจากคนในชุมชนและไม่ได้ขออนุญาตการก่อสร้างอาคารเพิ่มเติมจากเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมในชุมชน โดยเฉพาะมลภาวะทางกลิ่นที่มาจากมูลสุกร และน้ำเน่าเสียจากบ่อบำบัด ทำให้ชาวบ้านกว่า 322 ครัวเรือน ประมาณ 609 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ในวันที่ 21 มี.ค. 65 ที่ผ่านมากลุ่มชาวบ้านกิ่วมื่น-ริมร่อง ได้รวมตัวกันที่หน้าฟาร์ม "KTN Faming" เพื่อแจ้งปัญหาความเดือดร้อนรำคาญจากกลิ่นมูลสุกรและขอทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาจากผู้ประกอบการ โดยมีคณะเจ้าหน้าที่เข้าร่วมรับฟังและรับทราบปัญหาจากชาวบ้านมาแล้ว

และจากการสำรวจของเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลมะเขือแจ้ ปรากฏว่าฟาร์มฯ ได้มีการปล่อยน้ำเสียจากบ่อบำบัดลงสู่ลำเหมืองสาธารณะ ซึ่งทางเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ก็ได้นำรถแบ็กโฮมาแก้ไขปิดทางน้ำเสีย จากนั้นได้มีการเข้าสำรวจภายในฟาร์ม ซึ่งเจ้าของกิจการได้ปฏิเสธที่จะให้เข้าไปนับจำนวนสุกรในโรงเรือน อนุญาตให้เพียงสำรวจบริเวณรอบนอกโรงเรือนเท่านั้น


เบื้องต้นเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้แก่ฟาร์มดังกล่าว คือ 1. ให้เจาะบ่อน้ำบาดาลให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 24 มี.ค. 2. ให้ผู้ประกอบการประสานทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบระบบไบโอแก๊สว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไร ปริมาณความจุและการระบายก๊าซเป็นอย่างไร พร้อมทั้งรายงานให้เทศบาลตำบลมะเขือแจ้ทราบ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 24 มี.ค. 3. ให้ผู้ประกอบการดำเนินการติดตั้งพัดลมและตัวกรองกลิ่นเหม็นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 27 มี.ค. 65

แม้ว่าทางฟาร์มฯ ได้ดำเนินการแล้ว และรายงานต่อเทศบาลตำบลมะเขือแจ้ในวันที่ 7 เม.ย. 65 แต่ปัญหาเรื่องมลพิษจากกลิ่นมูลสุกรและน้ำเน่าเสียที่ปล่อยจากฟาร์มฯ ลงสู่ลำเหมืองสาธารณะยังคงสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ชาวบ้านเช่นเดิมและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

ชาวบ้านจึงได้มีการรวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 28 เมษายน 2565 เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของฟาร์มฯ ซึ่งในครั้งนี้ชาวบ้านได้เรียกร้องขอทราบจำนวนแท้จริงของสุกรที่เลี้ยงอยู่ภายในฟาร์ม ณ ปัจจุบัน และกำหนดระยะเวลาที่แน่ชัดในการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นจากมูลสุกร


แต่ปรากฏว่าทางฟาร์มยังคงปฏิเสธการนับจำนวนสุกร โดยอ้างว่ากลัวโรคติดต่อ แม้ชาวบ้านได้เสนอให้มีการไลฟ์สดในการนับจำนวนสุกร โดยให้บุคลากรของทางฟาร์มเป็นผู้นับ แต่ก็ถูกปฏิเสธเช่นเดิม ในส่วนของการกำหนดระยะเวลาการแก้ไขปัญหากลิ่นมูลสุกรนั้น ทางฟาร์มก็ไม่สามารถระบุเวลาให้ชัดเจนได้

ดังนั้นกลุ่มชาวบ้านจึงรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก โดยขอให้ทางจังหวัดลำพูน ลงพื้นที่ตรวจสอบวิธีการกำจัดกลิ่นและขอให้ทางฟาร์มลดจำนวนการเลี้ยงสุกรและปรับปรุงระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้คุณภาพ

ด้านนายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า จะนำเรื่องเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนและส่งเรื่องถึงศูนย์ดํารงธรรมจังหวัดลำพูน เพื่อให้ศูนย์ฯ ดำเนินการแห้ไขตามระบบ และภายในวันนี้จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามและสำรวจแก้ไขปัญหาของประชาชนให้ได้โดยเร็ว จึงขอให้พี่น้องประชาชนวางใจในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น