xs
xsm
sm
md
lg

ศรชล.จัดสัมมนารับฟังปัญหาภาคประมงที่สมุทรสงคราม หวังร่วมพัฒนาการประมงไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสาคร - กองสารนิเทศ สำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล จัดสัมมนารับฟังปัญหาภาคประมง หวังร่วมพัฒนาการประมงไทย

วันนี้ (21 เม.ย.) ที่เดอะเกรซ อัมพวา รีสอร์ท ตำบลบ้านปรก อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม กองสารนิเทศ สำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ทางทะเล ได้จัดสัมมนารับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการประมงทะเล เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้ประชาชนตระหนักรู้ในความสำคัญของผลประโยชน์ของชาติทางทะเล อีกทั้งรับทราบปัญหาภาคประมงเพื่อร่วมกันพัฒนาการประมงไทย ภายใต้บริบทกฎหมายให้มีการพัฒนายิ่งขึ้น โดย พล.ร.ต.อุดมศักดิ์ ผาสุข ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล เป็นประธานเปิดการสัมมนา มีตัวแทนผู้ประกอบการเรือประมงพาณิชย์ในจังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร และเพชรบุรี ร่วมนำเสนอปัญหาที่ได้รับความเดือดร้อน ก่อนจะมีการเสวนาเรื่อง ศรชล.กับการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการประมงในพื้นที่อ่าวตัว ก.ไก่ตอนบน และเดินทางไปเยี่ยมชมตลาดปลาแม่กลอง จำกัด สหกรณ์ประมงแม่กลอง จำกัด

ทั้งนี้ ภาคประมงได้สะท้อนปัญหาความเดือดร้อนที่ต้องทำตามกฎ 16 ข้อที่ภาครัฐกำหนดโดยไม่ได้มองว่าชาวประมงจะไหวหรือไม่ โดยเฉพาะที่ต้องทำตามอียูสั่ง ที่ผ่านมาชาวประมงเคยเรียกร้องไปตามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพราะเดือดร้อนจริงๆ ผ่านมา 7-8 ปีแล้ว กฎต่างๆ น่าจะหยุดนิ่ง แต่ล่าสุด กรมสรรพสามิต ได้มีโครงการควบคุมกำกับและติดตามการส่งออกน้ำมันออกนอกราชอาณาจักรทางทะเล ด้วยการให้เรือประมงติดตั้งระบบสำแดงข้อมูลตัวตนอัตโนมัติ หรือ AIS ซึ่งชาวประมงมองว่าเป็นการสร้างภาระ ความวิตกกังวลในการบังคับใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดแก่ชาวประมงภายใต้การระบาดของโควิด-19 เนื่องจากเรือประมงมีระบบติดตามเรือผ่านดาวเทียม หรือ VMS อยู่แล้ว ซึ่งจะซ้ำซ้อนกัน และยังเป็นภาระของผู้ประกอบการที่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย อีกทั้งต้องเจอปัญหาการนำเข้าอาหารประมงเสรี อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ชาวประมงติดขอให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่กรมสรรพสามิตควรทำประชาพิจารณ์กับชาวประมง 22 จังหวัดชายทะเล เสียก่อน จะได้ไม่เหมือนเป็นการมัดมือชก และหากเป็นไปได้เสนอให้พัฒนาแอปโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายกับภาคประมงได้ระดับหนึ่ง

พล.ร.ต.อุดมศักดิ์ กล่าวว่า ศรชล.มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตำรวจน้ำ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทุกหน่วยงานปฏิบัติงานจริงในนามศูนย์แจ้งเข้าแจ้งออกเรือประมง หรือ PIPO (ปีโป้) จังหวัดสมุทรสงคราม มีเรือประมงพาณิชย์จำนวนมาก จึงมีแรงงานต่างด้าวทำงานในเรือจำนวนมากเช่นกัน ส่วนขั้นตอนตรวจสอบคนที่จะลงเรือประมงก็มากไปด้วย วันนี้จึงมารับทราบปัญหา เพื่อหาข้อยุติเท่าที่จะทำได้ภายใต้กรอบกฎหมายจาก 7 หน่วยงานหลัก เพื่อหาทางออกให้ชาวประมงทำงานได้อย่างสะดวกภายใต้กฎหมายเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ตนทราบว่าการออกเรือไม่ได้มีปัญหา แต่มีปัญหาเรื่องเอกสารต่างๆ ซึ่งบางครั้งการทำเอกสารล่าช้าไม่พร้อม ทำให้ออกเรือจากศูนย์ PIPO ไม่ได้ ซึ่งเป็นการเสียโอกาสทางธุรกิจของชาวประมง จึงต้องหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้สะดวกในลักษณะ one Stop service นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของชาวประมงในการนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในเรือประมง จะต้องหาแนวทางว่าทำอย่างไรให้ขั้นตอนสะดวกมากขึ้น ตั้งแต่ต้นทางคือ ผู้หาแรงงานมาทำงาน จนถึงการจดทะเบียนทำงาน และลงเรือทำประมง ซึ่งต้องทำให้ทุกขั้นตอนถูกกฎหมาย ซึ่งตนจะรวบรวมข้อมูลข้อเสนอปัญหาอุปสรรคต่างๆ ต่อผู้บังคับบัญชาเพื่อหาแนวทางแก้ไขในการบูรณาการร่วมกันได้ระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เศรษฐกิจของชาติโดยเฉพาะภาคประมง เดินหน้าต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19






กำลังโหลดความคิดเห็น