xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.แก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง สภาฯ ลงพื้นที่หาดสร้อยสวรรค์ จ.สงขลา และ หาดปานาเระ จ.ปัตตานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วันนี้ (19 เม.ย.) น.ส.จอมขวัญ กลับบ้านเกาะ ส.ส.จ.สมุทรสาคร พรรคเศรษฐกิจไทย ปฏิบัติหน้าที่กรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เป็นประธาน ไดันำคณะฯลงพื้นที่หาดสร้อยสวรรค์ ต.เทพา อ.เทพา จ.สงขลา ตรวจสภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งอธิบดีกรมเจ้าทำ,อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและขายฝั่ง,อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา

ทั้งนี้ หาดสร้อยสวรรค์ มีร่องรอยการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง สาเหตุของการกัดเซาะชายฝั่ง เกิดจากเขื่อนกันทรายและคลื่นปากแม่น้ำเทพา (Jetty) เขื่อนกันทรายและคลื่นนอกชายฝั่ง ทำให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่องจากโครงสร้างดังกล่าว อีกทั้งโครงสร้างเขื่อนหินทิ้งและกำแพงกันคลื่นชายฝั่งของผู้ประกอบการภาคเอกชนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการกัดเซาะต่อเนื่องจากจุดสิ้นสุดโครงสร้างอีกด้วย ซึ่งกรมเจ้าท่าได้สำรวจข้อมูลทำโครงการไว้แล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เนื่องจากมีปัญหาอุปสรรคเรื่องพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา จึงมอบหมายให้นายอำเภอเทพา เประสานงานกับองค์กรปกครองท้องถิ่นที่ในพื้นที่แล้วเสนอเรื่องไปยังจังหวัดสงขลา เพื่อประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในส่วนของคณะกรรมาธิการฯ จะสรุปการตรวจสภาพพื้นที่ การรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อสังเกตุ รายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาคลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่งและการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างเป็นระบบ สภาผู้แทนราษฎร ยังได้ไปตรวจสอบหาดปานาเระ ต.ปานาเระ อ.ปานาเระ จ.ปัตตานี ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และรับฟังการบรรยายสรุปจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยว รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีด้วย

โดยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่หาดปานาเระ มีตะกอนทรายทับถมปากร่องน้ำปิด ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประมาณ 80% ซึ่งประกอบอาชีพประมงได้รับความเดือดร้อน โดยกรมเจ้าท่าได้ดำเนินการขุดลอกทุกๆ 2-3 ปี/ครั้ง เพื่อแก้ปัญหาร่องน้ำตื้นเขิน ใช้งบประมาณในการขุดลอกแต่ละครั้งประมาณ 60 ล้านบาท ปริมาณทรายที่ขุดลอกประมาณ 500,000 ลบ.ม. ผลการดำเนินการหลายปีที่ผ่านมายังไม่สามารถแก้ปัญหาปากร่องน้ำตื้นเชินได้อย่างยั่งยืน ขุดลอกร่องน้ำเสร็จใช้ประโยชน์ได้เพียง 2 เดือน มรสุมก็เข้ามาอีก ทำให้ปริมาณตะกอนทรายจำนวนมากทับถมปิดบริเวณปากร่องน้ำ หลังฤดูมรสุมหมดปากร่องน้ำก็ปิดเช่นเดิม ต้นทุนน้ำภายในร่องน้ำมีปริมาณน้อย ยิ่งทำให้ปากร่องน้ำปิดเร็วขึ้นกว่าปกติ

จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านซึ่งเป็นอาชีพหลักของซาวปานาเระ ทางเทศบาลตำบลปานาเระ ก็มีงบประมาณจำกัด ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ตลอดทั้งปี บางครั้งต้องใช้งบประมาณจากชมรมประมงพื้นบ้านฯ และงบประมาณจากแหล่งอื่นๆ นำมาขุดลอกเป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ชาวประมงพื้นบ้านตำบลปานาเระ จึงได้ยื่นข้อเสนอแนวทางการดำเนินการแก้ปัญหาต่อคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้

1. ขอให้กรมเจ้าท่าจัดสรรงบประมาณขุดลอกทุกปี และดำเนินการขุดลอกตลอดทั้งปี หรือมอบหมายให้ท้องถิ่นดำเนินการขุดลอกแทนโดยกรมเจ้าท่าเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณสำหรับการเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมใช้งานตลอดเวลา สามารถขุดลอกได้ทันที โดยเฉลี่ยปริมาณทราย/ขุดลอกปีละ 200,000 ลบ.ม.

2. ขอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วม จำนวน 9 คน เพื่อตรวจสอบการดำเนินการขุดลอกของกรมเจ้าท่าหรือท้องถิ่น/หน่วยงานที่รับผิดชอบ คณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทนชมรมประมงพื้นบ้าน ต.ปานาเระ 5 คน ผู้แทนท้องถิ่น 1 คน ผู้แทนฝ่ายปกครอง 1 คน ผู้แทนกรมเจ้าท่า 1 คน ผู้แทนผู้ดำเนินการ/ผู้รับจ้าง 1 คน

3. แนวทางการแก้ไขปัญหาปากร่องน้ำปานาเระตื้นเขินในระยะยาว, ทำการศึกษาแนวทางการปรับปรุงรูปแบบเขื่อนใหม่ให้สอดคล้องกับพื้นที่,ศึกษาแนวทางการสร้างกำแพงกันคลื่นนอกชายฝั่งบริเวณหน้าปากร่องน้ำ เพื่อป้องกันคลื่นน้ำทะเลนำทรายเข้ามาทับถมบริเวณปากร่องน้ำ และศึกษาแนวทางจัดหาแหล่งน้ำในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเชื่อมต่อกับร่องน้ำปานาเระ เช่น ขุดคลองเชื่อมกับแม่น้ำจะรัง ขุดคลองเชื่อมกับคลองบ้านมะรวด ฯลฯ




กำลังโหลดความคิดเห็น