ประจวบคีรีขันธ์ - รองผู้ว่าฯ ประจวบฯ เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแนวทางในการแก้ปัญหาช้างป่าละอูบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตร ทำร้ายชาวบ้านเสียชีวิต และบาดเจ็บ โดยกำหนดกรอบแนวทางแก้ปัญหาออกเป็น 3 ระยะ เบื้องต้นจะมีการตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเฝ้าระวังช้างป่า
วันนี้ (18 เม.ย.) ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้าง ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาช้างป่าในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบุกรุกทำลายพื้นที่เกษตรกรรม และทำร้ายชาวบ้านซึ่งมีทั้งเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ โดยมี นายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายพิชัย วัชรวงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 สาขาเพชรบุรี นายนิทัศน์ จันทร์ทอง ทสจ.ประจวบคีรีขันธ์ นายอิทธิพล ไทยกมล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ นายทองใบ เจริญดง สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า WCS นายโอฬาร กำพร กำนันตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึก ผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม
นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า จากเหตุการณ์ช้างป่าทำร้ายชาวบ้านฟ้าประทาน ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา และกรณีช้างป่าทำร้ายวัยรุ่นขณะขี่รถจักรยานยนต์ที่หุบปลากั้ง หมู่ 5 บ้านเฉลิมพร จนเสียชีวิต รวมทั้งยังเกิดปัญหาช้างป่าบุกรุกทำลายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน และแปลงผักอาหารกลางวันของโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด นายเสถียร เจริญเหรียญ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้สั่งการให้เร่งวางแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
โดยวันนี้ได้มีการเรียกประชุมด่วนหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ องค์กรอนุรักษ์ และภาคประชาชน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล รับฟังปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา เพื่อวางทิศทางในการป้องกันปัญหาระหว่างคนกับช้างไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงกว่านี้ หรือซ้ำรอยเดิมอีก
ในส่วนของเหตุการณ์ที่ช้างป่าทำร้ายชาวบ้านฟ้าประทาน จนได้รับบาดเจ็บสาหัสนั้น คาดว่าจะเป็นช้างป่าที่แตกโขลงออกมา หรือช้างป่าแม่ลูกอ่อนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ขี้ระแวง ไม่ใช่เจ้าบุญมี และเจ้าบุญช่วย ช้างป่าเจ้าประจำที่ออกหากินในหมู่บ้าน ซึ่งไม่มีนิสัยดุร้าย หรือทำร้ายชาวบ้าน ประกอบกับช่วงนี้เป็นฤดูแล้ง ที่อาหารในป่ามีปริมาณน้อย และในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ มีผลไม้ที่รสชาติหอมหวานอย่างมะม่วง กำลังออกผลผลิต ช้างป่าที่เคยกินผลไม้เหล่านี้จะติดใจรสชาติออกมาหากินผลไม้ของชาวบ้าน ทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างคนกับช้างป่า จนเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น
สำหรับการประชุมในวันนี้ได้กำหนดกรอบแนวทางในการแก้ปัญหาช้างป่าในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ขอความร่วมมือในการปรับภูมิทัศน์รอบบ้าน ถนน และพื้นที่โดยรอบ เพื่อให้เกิดทัศนวิสัยที่ดี มองเห็นช้างป่าได้ง่าย จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจเพื่อเฝ้าระวังช้างป่า โดยบูรณาการร่วมกันทั้งอุทยานฯ ทหาร ตำรวจพลร่ม อบต. และอาสาสมัครภาคประชาชน สร้างเครือข่ายแจ้งเตือนประชาชน
โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้าร่วมสรุปปัญหาร่วมกันทุกเดือน ส่วนในระยะกลาง จะมีการนำแผนแม่บทในการแก้ปัญหาช้างป่าที่คณะกรรมการชุดเดิมเคยทำไว้มาปรับแก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ส่วนในระยะยาว จะต้องร่วมกันวางแผนเรื่องของแนวรั้วกั้นช้าง ที่ขณะนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ และไม่ใช่การแก้ปัญหาช้างป่าที่ดีที่สุด แต่จะต้องวางแผนในการสร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำในป่าให้เพียงพอ รวมทั้งการติดตั้งไฟส่องสว่างตามถนนต่างๆ ซึ่งทั้ง 3 แนวทางจะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกัน