xs
xsm
sm
md
lg

กระตุ้นท่องเที่ยวเมืองน้ำดำจัดงาน “ไดโนพาเลาะ” ครั้งที่ 3 ผลักดันเป็นอุทยานธรณี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาฬสินธุ์ - ผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์เปิดงานไดโนพาเลาะ ครั้งที่ 3 พร้อมผลักดันพื้นที่กาฬสินธุ์เป็นอุทยานธรณี เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวชุมชนท้องถิ่น


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์สิรินธร อ.สหัสขันธ์ นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายปราชญา อุ่นเพชรวรกร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นประธานเปิดงานไดโนพาเลาะ ครั้งที่ 3 "เบิ่งกาฬสินธุ์ ถิ่นของดี สะออนจีโอปาร์ค" โดยมี ดร.ดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 2 นางสาวแววตา นระทัด นายอำเภอสหัสขันธ์ และนางสาวศศอร ขันสุภา รักษาการผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์สิรินธร ให้การต้อนรับ มีหัวหน้าส่วนและตัวแทนภาคเอกชนเข้าร่วมพิธี

โดยงานไดโนพาเลาะ ครั้งที่ 3 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-17 เม.ย. 65 นี้ มีเป้าหมายการจัดงานเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ทางธรณีวิทยา ซากดึกดำบรรพ์ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้หลักการการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การออกบูทจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์โอทอป ของดีของเด่นชุมชน กิจกรรม workshop เรียนรู้การสร้างสินค้าแบรนด์ไดโนเสาร์ ทริปรถรางพาเลาะในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของอำเภอสหัสขันธ์ และนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับอุทยานธรณี Geopark kalasin




นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีมรดกอันล้ำค่า ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี ภาษา การแต่งกาย และทรัพยากรธรณีที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และมีสิ่งสำคัญระดับโลกนั่นคือซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งถือเป็นความภูมิใจของชาวกาฬสินธุ์ ต้องขอขอบคุณกรมทรัพยากรธรณีที่ได้จัดกิจกรรมไดโนพาเลาะขึ้นมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้พี่น้องชาวกาฬสินธุ์ได้รู้จักอุทยานธรณี หรือ kalasin geopark ว่าคืออะไร และทุกภาคส่วนในจังหวัดก็พร้อมผลักดันให้พื้นที่กาฬสินธุ์ ก้าวสู่อุทยานธรณีระดับประเทศ และระดับโลก




ด้าน ดร.ดรุณี สายสุทธิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรณี เขต 2 กล่าวว่า อุทยานธรณีคือพื้นที่เชื่อมโยงมรดกทางธรณี ทางนิเวศวิทยา ทางวัฒนธรรม และผู้คนเข้าด้วยกัน เพื่อการอนุรักษ์ การศึกษา และพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ จังหวัดกาฬสินธุ์มีมรดกทางธรณีวิทยา ซึ่งก็คือซากดึกดำบรรพ์ และยังมีมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่น และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่เข้มแข็ง

สิ่งเหล่านี้บ่งบอกว่าจังหวัดกาฬสินธุ์มีความพร้อมที่จะพัฒนาพื้นที่เป็นอุทยานธรณี ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลักดันให้จังหวัดกาฬสินธุ์ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น