ในวันที่ 29 เมษายนนี้ ประเทศไทยจะถูกบันทึกสถิติความเป็น “ที่สุดในโลก” เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นของมีคุณค่าระดับโลก และถือเป็นความภูมิใจของคนไทยด้วย นั่นก็คือ “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” แห่งอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก
ก่อนหน้านี้ทางกรมทรัพยากรธรณีซึ่งมีบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย ได้ยื่นเอกสารเพี่อบันทึกสถิติโลกไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกต่อ Guinness World Records (GWR) ซึ่งวันที่ 29 เม.ย. ที่จะถึงนี้ จะมีการมอบใบรับรองการบันทึกสถิตโลกอย่างเป็นทางการจาก Guinness World Records อีกครั้ง
ในโอกาสนี้เราจึงขอพาไปทำความรู้จักกับ “ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลก” แห่งจังหวัดตากกัน
1. ไม้กลายเป็นหินคืออะไร
ไม้กลายเป็นหิน จัดเป็นซากดึกดำบรรพ์ หรือ “ฟอสซิล” ชนิดหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเกิดจากซากต้นไม้ที่ถูกแทนที่ด้วยน้ำบาดาลซึ่งมีสารละลายของซิลิกา และเกิดการตกตะกอนกลายสภาพเป็นหินอย่างช้าๆ
ส่วนความหมายตามพจนานุกรมศัพท์ธรณีวิทยา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 กล่าวว่า ไม้กลายเป็นหิน (Petrified wood) คือ “เนื้อไม้ที่กลายสภาพเป็นหินเนื่องจากสารละลายซิลิกาเข้าไปแทนที่เนื้อไม้อย่างช้าๆ คือแทนที่โมเลกุลต่อโมเลกุล จนกระทั่งแทนที่ทั้งหมดโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและโครงสร้าง ปรกติซิลิกาในเนื้อไม้นี้อยู่ในรูปของโอพอลหรือคาลซิโดนี” (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรธรณี)
ในประเทศไทยเราจะพบไม้กลายเป็นหินได้ที่ภาคอีสาน เช่นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และพบมากที่บ้านโกรกเดือนห้า อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งต่อมาได้ก่อตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ซึ่งไม้กลายเป็นหินที่โคราชนี้มีอายุเก่าแก่กว่า 60 ล้านปี หรือในยุคไดโนเสาร์ ส่วนทางภาคเหนือพบเพียงแห่งเดียวที่อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก แห่งนี้
2. ไม้กลายเป็นหินแห่งบ้านตาก
ไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกแห่งอำเภอบ้านตาก จังหวัดตากนี้ถูกพบเมื่อปี 2546 มีอายุราว 1 แสน 2 หมื่นปีเท่านั้น ซึ่งถือว่าอายุยังน้อย สันนิษฐานว่า เกิดจากการทับถมโดยฉับพลัน เช่น อาจเกิดจากภัยพิบัติ ดินโคลนถล่ม หรือน้ำป่าไหลหลาก ทำให้ต้นไม้ล้ม และถูกกลบฝังทันที
ต่อมาในพื้นดินอาจมีรอยแตกรอยเลื่อนที่นำพาสายน้ำแร่ที่อยู่ใต้ดินขึ้นมา ซึ่งในน้ำแร่จะมีแร่ซิลิกา ที่จะเข้าไปทดแทนรูพรุนในเนื้อไม้ และเข้าไปยึดเอาโครงสร้างเดิมของเนื้อไม้ ทำให้ไม้ยังคงมีลักษณะโครงสร้างเหมือนไม้ แต่ภายในแปรเปลี่ยนไปเป็นเนื้อหินซิลิกา
แต่เนื่องจากมีอายุน้อย การแปรสภาพไม่ได้สมบูรณ์ ไม่ได้เป็นหิน 100% แบบไม้กลายเป็นหินของโคราช เนื้อข้างในของไม้กลายเป็นหินแห่งบ้านตากนี้อาจยังเป็นโพรงหรือมีฝุ่นอยู่ ทำให้ยังสามารถผุได้หากโดนความชื้นนานๆ
ปัจจุบันไม้กลายเป็นหินนี้ตั้งอยู่ที่ “อุทยานแห่งชาติดอยสอยมาลัย - ไม้กลายเป็นหิน (เตรียมการ)” หมู่ 7 ต.ตากออก อ.บ้านตาก จ.ตาก ซึ่งถือเป็นแหล่งอนุรักษ์ ศึกษาเรียนรู้ และสถานที่ท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งของเมืองไทย
3. ต้นทองบึ้งกลายเป็นหิน
เมื่อนักธรณีวิทยาดูโครงสร้างและลักษณะของไม้แล้ว สันนิษฐานว่าไม้กลายเป็นหินแห่งบ้านตากนี้เป็น “ต้นทองบึ้ง” ที่ปัจจุบันทางภาคเหนือไม่มีต้นไม้ชนิดนี้แล้ว แต่สามารถพบเจอได้ที่ภาคใต้ ในจังหวัดสตูล และที่เกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย จึงเป็นข้อสันนิษฐานว่า เมื่อก่อนลักษณะภูมิประเทศในแถบบ้านตากนี้อาจมีความคล้ายคลึงกับบอร์เนียวหรือภาคใต้ของไทยที่เป็นป่าทึบมีความชื้นสูง
อีกทั้งบริเวณที่พบไม้กลายเป็นหินนี้มีก้อนกรวดเยอะ ซึ่งเราจะพบก้อนกรวดนี้ที่บริเวณลำห้วย ลำธาร ซึ่งก็เป็นข้อสันนิษฐานถึงสภาพแวดล้อมในอดีตว่า ตรงนี้น่าจะเคยเป็นบริเวณตะพักคุ้งน้ำของแม่น้ำปิงโบราณ ก่อนที่จะมีการปรับสภาพและเปลี่ยนทางเดินกลายเป็นแม่น้ำปิงในปัจจุบัน
4. ไม้กลายเป็นหินยาวที่สุดในโลก
ก่อนที่ประเทศไทยจะเสนอให้บันทึกสถิติโลกไม้กลายเป็นหินของจังหวัดตากว่ายาวที่สุดในโลก แชมป์เดิมเคยเป็นของไม้กลายเป็นหินในเมือง Qitai มณฑลซินเจียง สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความยาว 38 เมตร
ส่วนไม้กลายเป็นหินของเรานั้น แต่เดิมเมื่อพบครั้งแรกๆ วัดขนาดได้ 72.20 เมตร ต่อมาภายหลังเมื่อได้วัดใหม่ปรากฏว่าเหลือความยาวประมาณ 69.70 เมตร ซึ่งความคลาดเคลื่อนนี้เหตุหนึ่งอาจเกิดจากการใช้เครื่องมือวัดที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ส่วนอีกเหตุผลหนึ่งทางกรมทรัพยากรธรณีกล่าวว่าเป็นการผุพังไปตามธรรมชาติ ทั้งในส่วนปลายและบริเวณพูพอนหรือโคนต้นที่มีตะกอนดินไหลลงมาปิดทับ ประกอบกับมีน้ำท่วมขัง ทำให้บริเวณพูพอนมีการผุพังไปบางส่วน ทำให้ความยาวลดลง
ทั้งนี้ทั้งนั้น ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้มีการวัดความยาวด้วยวิธีวัดแบบมาตรฐานสากล โดยวัดทั้งหมด 3 ครั้ง ได้ความยาว 69.70 เมตร เท่ากันทั้ง 3 ครั้ง การวัดครั้งนี้จึงเป็นข้อสรุปและได้มีการบันทึกเทปเพื่อยืนยันการวัดความยาวบันทึกสถิติโลก ส่งให้กับกินเนสส์เวิร์ลเร็คคอร์ดเรียบร้อยแล้ว
5. มีให้ชมมากกว่าหนึ่งต้น
ไม่เพียงไม้กลายเป็นหินที่ยาวที่สุดในโลกเท่านั้นที่มีให้ชมในอุทยานฯ (เตรียมการ) แห่งนี้ เพราะที่นี่มีการค้นพบไม้กลายเป็นหินหลายสิบท่อนที่น่าจะเกิดขึ้นในยุคเดียวกัน โดยมีไม้กลายเป็นหินขนาดใหญ่จำนวน 8 ท่อน มีหลุมขุดค้นทั้งหมด 7 หลุม
หลุมที่ 1 : ขุดเปิดหน้าดิน เมื่อ ปี พ.ศ. 2546 พบไม้ทองบึ้ง กลายเป็นหิน มีลำต้นสมบูรณ์มาก ซึ่งก็คือท่อนที่ยาวที่สุดในโลกนี่เอง มีความยาว 69.70 เมตร
หลุมที่ 2 : ขุดเปิดหน้าดินเมื่อปี 2548 พบไม้มะค่าโมงกลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 0.50 เมตร ยาว 31.30 เมตร มีสภาพลำต้นแตกหักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่ยังคงเห็นเป็นลำต้นที่คดโค้งไปมา
หลุมที่ 3 : ขุดเปิดหน้าดินเมื่อปี 2548 พบไม้ทองบึ้งกลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 2.10 เมตร ยาว 33.50 เมตร ลำต้นแตกหักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ แต่บางส่วนยังคงเห็นเป็นลำต้น
หลุมที่ 4 : ขุดเปิดหน้าดินเมื่อปี 2548 พบไม้ทองบึ้งกลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.40 เมตร ยาว 42.4 เมตร ลำต้นแตกหักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และคดโค้ง แต่ยังคงเห็นเป็นลำต้น
หลุมที่ 5 : ขุดเปิดหน้าดินเมื่อปี 2548 พบไม้มะค่าโมงกลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.20 เมตร ยาว 22.20 เมตร ลำต้นไม่สมบูรณ์ แตกหักเป็นชิ้นเล็ก ๆ และคดโค้ง
หลุมที่ 6 : ขุดเปิดหน้าดินเมื่อปี 2548 พบไม้ทองบึ้งกลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.5 เมตร ยาว 33.6 เมตร ลำต้นค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนโคนหายไป วางตัวบนตะกอนทรายสีแดงอมส้ม
หลุมที่ 7 : ขุดเปิดหน้าดินเมื่อปี 2548 พบไม้ทองบึ้งกลายเป็นหิน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.50 เมตร ยาว 38.70 เมตร ลำต้นมีความสมบูรณ์มาก ส่วนปลายต้นหายไป