เชียงใหม่ - เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพนำชาวเชียงใหม่ผูกผ้าเขียวต้นไม้รอบคูเมืองแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และตอกย้ำจุดยืนทวงคืน “บ้านป่าแหว่ง” เชิงดอยสุเทพ หลังยืดเยื้อล่าช้ามานาน 4 ปี หวังธนารักษ์รับมอบพื้นที่คืนจากศาลอุทธรณ์ภาค 5 ก่อนเข้าฤดูฝนปีนี้ พร้อมเดินหน้าปลูกป่าฟื้นฟูธรรมชาติให้สมบูรณ์ดังเดิม
วันนี้ (9 เม.ย. 65) ที่ประตูท่าแพ ในตัวเมืองเชียงใหม่ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพและเครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ นำโดยนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ร่วมกันจัดกิจกรรม “ผูกผ้าเขียวรอบคูเมือง ทวงคืนป่าแหว่ง” โดยทำการผูกผ้าเขียวกับต้นไม้รอบคูเมืองเชียงใหม่ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการทวงถามและติดตามความคืบหน้ากรณีการส่งมอบคืนพื้นที่โครงการบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่ประกอบด้วยบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งยืดเยื้อมานานเกือบ 4 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ผู้ประสานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพเปิดเผยว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการร่วมกันผูกผ้าเขียวกับต้นไม้รอบคูเมืองเชียงใหม่ เบื้องต้นเฉพาะในส่วนของคูเมืองรอบนอก เพื่อเป็นการย้ำเตือนจุดยืนของประชาชนในการเรียกร้องขอคืนพื้นที่ “บ้านป่าแหว่ง” เพื่อทำการปลูกป่าฟื้นฟูสภาพธรรมชาติให้สมบูรณ์ดังเดิม ซึ่งที่ผ่านมายืดเยื้อล่าช้ามาโดยตลอดและกำลังจะครบรอบ 4 ปีของการเคลื่อนไหวใหญ่ในวันที่ 29 เม.ย. 65 นี้แล้ว โดยจากการติดตามความคืบหน้าจากทางศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้รับแจ้งว่าทางศาลได้ทำหนังสือขอคืนพื้นที่ให้กับธนารักษ์แล้วในส่วนของบ้านพัก 45 หลัง และรอแต่เพียงทางธนารักษ์ตอบรับที่จะรับคืนทั้งพื้นที่และพัสดุครุภัณฑ์เท่านั้น ซึ่งในวันที่ 15 เม.ย. 65 ทางตัวแทนเครือข่ายฯ มีการนัดพบหารือกับรองอธิบดีกรมธนารักษ์ และน่าจะทราบข้อสรุปที่ชัดเจน
เบื้องต้นมองว่าแนวโน้มทุกอย่างน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี และก่อนวันที่ 29 เม.ย. 65 นี้ภาคประชาชนน่าจะสามารถเข้าพื้นที่ได้แล้วเพื่อเริ่มต้นขั้นตอนของการปลูกป่าฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเมื่อสามารถเข้าพื้นที่ได้แล้วจะมีการวางแผนการทำงานอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้งว่าจะปลูกต้นไม้ชนิดใดบ้างและเริ่มปลูกเมื่อใด แต่ต้องเป็นช่วงก่อนที่จะเข้าฤดูฝน นอกจากนี้จะมีกิจกรรม ทั้งพิธีการจัดตั้งอนุสาวรีย์ “บ้านร้างป่าแหว่ง” และผูกโบดำ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าบ้านป่าแหว่งนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรมและขัดความรู้สึกของคนเชียงใหม่
สำหรับกรณีการย้ายศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปจังหวัดเชียงรายและความล่าช้าของการก่อสร้างนั้น ผู้ประสานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกล่าวว่า เบื้องต้นต้องย้ำว่าการเคลื่อนไหวและจุดยืนข้อเรียกร้องของเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพไม่เคยระบุให้มีการย้ายศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไปจังหวัดเชียงราย แต่เป็นทางศาลเองที่เลือกทางออกเช่นนั้น ทั้งนี้ ความล่าช้าการก่อสร้างที่เกิดขึ้นนั้นทราบว่ามาจากการที่ผู้รับเหมาไม่ได้รับเงิน ขณะที่ทางศาลกำลังมีการพิจารณาแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว ซึ่งหวังว่าจะมีทางออกและเดินหน้าก่อสร้างต่อไปจนเสร็จ จากนั้นจะได้ไม่มีข้ออ้างในการย้ายออกและคืนพื้นที่อาคารชุด 9 หลังที่เหลือเพื่อฟื้นฟูป่าต่อไป