ระยอง - ไม่จบง่ายๆ มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วจากท่อส่งน้ำมันใต้ทะเล SPRC วันนี้ยังมีกลุ่มประมงชายฝั่งที่ได้รับความเดือดร้อนและผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่มีชื่อได้รับการเยียวยาชูป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรม
แม้จะผ่านไปนานกว่า 2 เดือนสำหรับเหตุการณ์น้ำมันรั่วจากท่อส่งน้ำมันใต้ทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC บริเวณนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางดึกวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าหน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันกำจัดคราบน้ำมันที่ลอยขึ้นมาบนผิวน้ำด้วยการฉีดสารเคมี Dispersant ให้น้ำมันแตกตัวเป็นหน่วยเล็กจมลงสู่ก้นทะเลจนมองไม่เห็นแล้ว
แต่มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวกลับยังดูเหมือนว่าไม่ทั่วถึง และไม่เป็นไปตามความต้องการของชาวบ้านและกลุ่มชาวประมงที่ได้รับความเดือดร้อน จนทำให้เกิดการรวมตัวเรียกร้องขอความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่องนั้น
ล่าสุด วันนี้ (30 มี.ค.) ยังมีกลุ่มชาวบ้านที่ไม่มีรายชื่อได้รับการเยียวยาจากผลกระทบคราบน้ำมันพากันรวมตัวชูป้ายเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC ที่อาคารอเนกประสงค์ข้างสำนักงานเทศบาล ต.บ้านเพ อ.เมืองระยอง
หลัง SPRC ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าทำการตรวจสอบหลักฐานบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ได้รับความเดือดร้อนเพื่อจ่ายเงินเยียวยาเป็นเช็คเงินสด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าชาวบ้านจำนวนมากได้แสดงความไม่พอใจหลังตนเองมีรายชื่อตกหล่น จึงพากันชูป้ายระบุ “มีชื่อแล้ว โทรหาแล้ว รับรองแล้ว ทำไมถึงยังไม่มีรายชื่อรับเงินเยียวยา” รวมทั้ง “ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริงที่ยังไม่ได้รับการเยียวยา ขอทราบเหตุผลด้วยครับ” และ “อาชีพเหมือนกัน บางคนได้ บางคนไม่ได้ เพราะอะไร ทั้งที่เดือดร้อนเหมือนกัน”
น.ส.ไพรวัลย์ บุญฤทธิ์ อาชีพประมงพื้นบ้านคอกแหลมเทียน บ้านเพ บอกว่า ตนเองอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการเรือไม่มีทะเบียน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ทำมาหากินในพื้นที่มาตั้งแต่บรรพบุรุษ และได้รับผลกระทบจากคราบน้ำมันที่รั่วไหลลงทะเลจนหากินชายฝั่งไม่ได้ แต่ในวันนี้กลับไม่ได้รับเงินเยียวยาและยังถูกอ้างว่าเป็นกลุ่มคนไม่เข้าหลักเกณฑ์
“อยากถามว่าใครเป็นผู้ก่อความความเดือดร้อนขึ้นมา ชาวประมงเขาทำมาหากินของเขาอยู่ดีๆ มันเป็นเพราะอะไร ซึ่งกลุ่มชาวบ้านที่หากินชายฝั่งด้วยการจับหอย ปู ปลาขาย เขาเดือดร้อนเช่นเดียวกับกลุ่มประมงและผู้ประกอบการอื่นๆ” น.ส.ไพรวัลย์ กล่าว
เช่นเดียวกับ นายปรัชญา สมุทรัตน์ อายุ 49 ปี เจ้าของร้านรับซักผ้าให้ผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ตบนเกาะเสม็ด บอกว่าร้านของตนอยู่ฝั่งบ้านเพ และมีลูกจ้างหลายคน ซึ่งปัญหาน้ำมันรั่วทำให้นักท่องเที่ยวยกเลิกการจองที่พักบนเกาะเสม็ด จนทำให้ขาดรายได้จากการรับจ้างซักผ้ามานานถึง 2 เดือน
ส่วน นายอธิต สิทธิไชย ครูสอนนักดำน้ำบริเวณหาดแม่รำพึง บอกว่า วันนี้ตนเองได้เข้ามาตรวจสอบรายชื่อผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและเข้าเกณฑ์ได้รับการเยียวยา พบว่าอาชีพฝึกสอนดำน้ำไม่เข้าเกณฑ์ ซึ่งตนเองไม่เข้าใจว่าบริษัทฯ ใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณา
“ทั้งที่คราบน้ำมันขึ้นหาดแม่รำพึง ซึ่งผู้ที่มีอาชีพสอนดำน้ำบริเวณดังกล่าวย่อมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพอื่นๆ รวมทั้งผู้มีอาชีพหาหอย ปู และปลาชายฝั่ง แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับใบอนุญาตให้เข้ายื่นเอกสารเพื่อขอรับเงินเยียวยาทั้งที่ทุกคนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน” นายอธิต กล่าว