จันทบุรี - สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุดจันทบุรี ระดมสมองสมาชิกหาทางกระจายผลผลิต หลังแนวโน้มทุเรียนปีนี้มีมากกว่า 700,000 กก. แต่กลับเจอปัญหาจีนปิดด่านชายแดนจากมาตรการ ZERO COVID ทำรถสินค้าตกค้างแล้วกว่า 5,000 คัน
เมื่อเร็วๆ นี้ นายภาณุวัชร์ ไหมแก้ว นายกสมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน-มังคุด ได้เชิญสมาชิกสมาคมกว่า 400 ราย ประชุมร่วมกัน ณ โรงแรมมณีจันท์ รีสอร์ท จ.จันทบุรี เพื่อหาทางส่งออกผลไม้ไทยไปจีน หลังจีนออกนโยบายเข้ม ZERO COVID เพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำเชื้อโควิด-19 จากภายนอกเข้าสู่พลเมืองของประเทศ จนทำให้ผลผลิตจากไทยตกค้างบริเวณแนวชายแดนประเทศจีนเป็นจำนวนมาก
โดยปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการที่อยู่ในสมาคมขณะนี้คือ รถบรรทุกตู้สินค้าที่จอดนิ่งอยู่บริเวณหน้าด่านชายแดนกว่า 5,000 คัน จนทำให้ผู้ประกอบการส่งออกต้องหันไปพึ่งการส่งออกสินค้าทางเรือและเครื่องบิน แต่ต้องแบกรับต้นทุนที่พุ่งสูง
“การส่งออกผลไม้จากไทยไปจีนช่วงเดือน เม.ย.- พ.ค.นี้ ยิ่งมีความน่าเป็นห่วง เนื่องจากเป็นช่วงที่ผลผลิตทุเรียนจะออกสู่ตลาด ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีผลผลิตเป็นจำนวนมากถึง 740,000 ตัน ซึ่งหากการระบายผลผลิตล่าช้าย่อมก่อให้เกิดความเสียหายมหาศาล ขณะนี้จึงทำได้เพียงแต่รอความหวังว่าภาครัฐจะสามารถเจรจากับทางการจีนเพื่อผ่อนปรนมาตรการ ZERO COVID”
ทั้งนี้ สมาคมได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ (ล้ง ) เข้มงวดการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ให้แรงงานในฤดูเก็บเกี่ยวผลไม้แบบ 100% รวมทั้งต้องปฏิบัติตัวตามข้อกำหนดของจังหวัดอย่างเคร่งครัดเพื่อให้กระบวนการส่งออกเดินหน้า
นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือจากสมาชิกให้เตรียมความพร้อมปฏิบัติตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (โควิดฟรีเซตติ้ง โออาร์ จีเอ็มพีพสัส) เพื่อยกระดับมาตรฐานการส่งออกในอนาคต
ขณะที่ นายมณฑล ปริวัฒน์ นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ ให้ข้อมูลว่า ล่าสุด หอการค้าไทย ได้พยายามที่จะหาสายการเดินเรือมาช่วยระบายผลผลิตผลไม้จากภาคตะวันออก และยังได้ขอเปิดเส้นทางพิเศษส่งออกผลไม้ไทยจากมาบตาพุด ไปยังเมืองกว่างโจว และชินโจว ของจีน ให้ได้สัปดาห์ละ 300 ตู้ ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน
ส่วนเส้นทางรถไฟลาว- จีน ที่หน่วยงานเกี่ยวข้องพยายามเจรจาเพื่อเร่งให้เปิดเดินรถได้ภายใน เม.ย.นี้ ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
“การส่งออกทางเครื่องบินแม้จะทำได้สะดวกที่สุดแต่ต้นทุนการส่งออกสูงมาก ซึ่งทางสมาคมพยายามที่จะเจรจากับสายการบินในประเทศและต่างประเทศเพื่อหาต้นทุนที่เหมาะสมสำหรับการระบายสินค้า ซึ่งในส่วนของเกษตรกรและผู้ประกอบการล้งต้องเร่งสร้างมาตรฐานจีเอ็มพีพลัส เพื่อหาตลาดใหม่ในต่างประเทศ ตลาดการค้าชายแดน และส่งเสริมการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น หลังที่ผานมาทุเรียนไทยพึ่งพาตลาดจีนมากถึง 90%” นายกสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ กล่าว