สปป.ลาว/เชียงราย - ทางการลาวช่วยเหลือสาวไทยพ้นเงื้อมมือแก๊งสกิมเมอร์คิงส์โรมัน พร้อมส่งข้ามแดนกลับไทยได้อีก 3 ราย มีทั้งชาวพะเยาและเชียงราย เผยที่ผ่านมามีคนไทยถูกหลอกหนีกลับเอง-ได้รับการช่วยเหลือ รวมกว่า 20 รายแล้ว
วันนี้ (17 มี.ค. 65) ทางการ สปป.ลาวได้นำตัวคนไทยที่ถูกหลอกให้ไปทำงานกับแก๊งสกิมเมอร์ในโครงการคิงส์โรมัน เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ตั้งแต่ต้นปี 2565 ที่ช่วยเหลือออกมาได้อีก 3 คน ส่งคืนกลับประเทศไทย ณ จุดผ่านแดนถาวร สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อ.เชียงของ จ.เชียงราย
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นายกนก ศรีวิชัยนันท์ ปลัดจังหวัดฯ เป็นตัวแทนฝ่ายไทย พร้อมกับ พ.ต.อ.มณุวัฒน์ กอสนาม ผกก.ตม.เชียงของ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับตัวคนไทยทั้ง 3 คน ประกอบด้วย น.ส.สายสุนีย์ สักแกแก้ว อายุ 36 ปี ชาว อ.ภูซาว จ.พะเยา น.ส.พิชญานิน แซ่ลี อายุ 26 ปี ชาว อ.แม่จัน จ.เชียงราย และ น.ส.เพชราภรณ์ มูเซอ ชาว อ.แม่จัน จ.เชียงราย เบื้องต้นพบทั้งหมดมีท่าทีอิดโรยแต่ก็มีขวัญกำลังใจที่ดีเมื่อได้กลับคืนสู่ประเทศไทย
ทั้งนี้ คณะของนายกนกได้ขอบคุณทางการ สปป.ลาวที่ช่วยเหลือคนไทยกลับมา ซึ่งแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทย-สปป.ลาว โดยเฉพาะระดับท้องถิ่นที่เป็นไปด้วยความแน่นแฟ้นแม้จะมีการปิดพรมแดนตลอดแนวเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2562 และเปิดให้ขนส่งสินค้าเฉพาะสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เท่านั้นก็ตาม
ขณะที่หญิงสาวชาวไทยทั้ง 3 คนที่ได้รับการช่วยเหลือ ระบุเหมือนรายอื่นๆ ที่หลบหนีกลับมาก่อนหน้านี้ว่าถูกหลอกให้ไปทำงานสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา แล้วให้ติดต่อหลอกลวงนักลงทุนชาวไทยให้ไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เมื่อมีการโอนเงินเข้าไปแล้วก็ให้ปิดเพจนั้นทันที จึงได้ติดต่อขอความช่วยเหลือผ่านทางออนไลน์มายังเจ้าหน้าที่ไทยเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา กระทั่งได้รับการช่วยเหลือดังกล่าว แต่ยังมีคนไทยที่ตกค้างอยู่อีกจำนวนมาก บางคนก็สมัครใจที่จะอยู่ต่อเพราะเห็นว่ารายได้ดี
ทั้งนี้ พวกเธอยังเตือนอีกว่าหากมีการชักชวนให้ไปทำงานในลักษณะนี้ก็อย่าหลงเชื่อเป็นอันขาดโดยเฉพาะกลุ่มขบวนการจะพยายามหลอกว่าจะมีเงินเดือนสูง รายได้ดี และมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน แต่เมื่อข้ามไปทำงานแล้วกลับให้ทำสิ่งผิดกฎหมายดังกล่าว
ด้านนายกนกกล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีคนไทยหลายคนที่ถูกหลอกเข้าไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน เฉพาะตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.เป็นต้นมา เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งและเร่งให้การช่วยเหลือ รวมทั้งที่หลบหนีกลับมาเองรวม 21 คนแล้ว และมีคนที่ได้รับความช่วยเหลือล่าสุดนี้อีก 3 คน ซึ่งก็ต้องขอบคุณทางแขวงบ่อแก้วและเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ที่ได้รับการประสานงานก็เร่งช่วยเหลือคนไทยกลับมาดังกล่าว
กรณีคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือและหลบหนีกลับมาได้ทั้ง 21 คนนั้น แยกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นหญิงจำนวน 3 คน ได้แจ้งขอความช่วยเหลือไปยังมูลนิธิพิทักษ์สตรี (AAT) และกองคดีการค้ามนุษย์ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เมื่อเดือน ธ.ค. 2564 ทำให้ จ.เชียงรายมีหน้งสือด่วนที่สุดขอความร่วมมือจากแขวงบ่อแก้วทำให้ได้รับการส่งตัวกลับแล้ว
กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 15 คน มีทั้งชายและหญิง ซึ่งได้แจ้งขอความช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ไทยเมื่อปลายเดือน ก.พ. 2565 และทาง จ.เชียงรายมีหนังสือขอความร่วมมือไปยังแขวงบ่อแก้วอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 21 ก.พ. แต่กลุ่มนี้มีผู้หลบหนีข้ามแม่น้ำโขงมาเองหลายครั้ง ครั้งละ 5-6 คน และกลุ่มที่ 3 คือหญิงสาวทั้ง 3 คนที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาในครั้งนี้
ทั้งนี้ กลุ่มคนไทยที่หนีกลับมาได้ก่อนหน้านี้ระบุว่า ถูกคนชักชวนไปทำงานในโครงการคิงส์โรมัน ลักษณะเป็นคนควบคุมระบบหรือแอดมินกาสิโนออนไลน์ แลกกับเงินเดือน 30,000 บาท สัญญาจ้าง 6 เดือน ทำให้ทั้งหมดลักลอบหลบหนีไปยัง สปป.ลาว ทางด้าน อ.เชียงแสน แต่กลับถูกกลุ่มคนในโครงการบังคับให้ร่วมแก๊งสกิมเมอร์ เปิด Instagram (IG) และ facebook แล้วปลอมเป็นบุคคลชักชวนให้คนไปลงทุนต่างๆ ซึ่งผิดข้อตกลง
ขณะที่ พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผช.ผบ.ตร. พล.ต.ต.ชินวิช วิชัยธนพัฒน์ ผบก.ภ.จว.เชียงราย พล.ต.ต.วรพงศ์ คำลือ ผบก.สส.ภ.5 สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จ.เชียงราย นักสหวิชาชีพ ฯลฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว