ลำปาง - รัฐบาลสหรัฐฯ ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญการค้นหาเชลยศึก-ผู้สูญหาย เริ่มปฏิบัติการค้นหานักบินอเมริกันขับเครื่องบิน P-38 ตกลำปางสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 หวังนำทหารกล้าที่สูญหายไปกว่า 70 ปีกลับมาตุภูมิ
วันนี้ (3 มี.ค. 65) คณะผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหาย (DPAA) สำนักงานใหญ่ในฮาวาย กระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา จำนวน 9 คน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ไทย เดินทางลงพื้นที่บ้านแม่กัวะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง เริ่มปฏิบัติการค้นหานักบินอเมริกันที่สูญหายมากว่า 70 ปี ระหว่างการทำสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเชื่อว่านักบินคนดังกล่าวพร้อมด้วยเครื่องบิน P-38 ตกใกล้กับ ม.บ้านแม่กัวะ อ.สบปราบ
โดยอุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ไมเคิล ฮีธ, กงสุลใหญ่สหรัฐฯ เชียงใหม่ ฌอน โอนีลล์ และ พ.อ.อลงกต ดอนมูล ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่พบกับคณะค้นหา พร้อมนำชาวบ้านจากชุมชนบ้านแม่กัวะ ให้การสนับสนุนการปฏิบัติการด้วย
อุปทูตฮีธกล่าวว่า แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 70 ปีแล้ว แต่สหรัฐฯ ยังคงดำเนินการเพื่อนำทหารทุกนายของเรากลับบ้าน ซึ่งภารกิจด้านมนุษยธรรมนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือและมิตรภาพที่ยิ่งใหญ่ระหว่างสหรัฐฯกับไทย ในนามของสหรัฐฯ และประชาชนอเมริกัน ขอขอบคุณสมาชิกชุมชนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ตลอดจนรัฐบาลไทยที่ช่วยเราปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญและทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับชาติของเรา
ด้าน พ.ต.ไบรอัน ดับเบิลยู. สมิท หัวหน้าคณะค้นหาฯ กล่าวว่า เป้าหมายของเราที่นี่คือการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้มากที่สุด และสื่อสารกับครอบครัวของผู้สูญหายอย่างเปิดเผย ซึ่งตนขอขอบคุณเจ้าภาพชาวไทยที่ช่วยเรานำทหารของเรากลับสู่มาตุภูมิ
ทั้งนี้ ยังมีทหารอเมริกันประมาณ 81,600 นายที่ยังคงสูญหายจากเหตุการณ์ความขัดแย้งในอดีต ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ มุ่งมั่นในการหาข้อมูลของผู้สูญหายอย่างเต็มความสามารถเพื่อจะนำพวกเขาเหล่านั้นกลับสู่มาตุภูมิและครอบครัว ภารกิจนี้เป็นปฏิบัติการนำตัวผู้สูญหายกลับสู่มาตุภูมิที่สำคัญครั้งแรกในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2550
เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 สำนักงาน DPAA ได้รับข้อมูลชุดใหม่เกี่ยวกับการพบเครื่องบินของสหรัฐฯ ที่สูญหายระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง ในพื้นที่ภาคเหนือของไทยจำนวน 3 ลำ นำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายงานเครื่องบินที่สูญหาย
“ความสูญเสียดังกล่าวเกี่ยวข้องกับทหารอเมริกันที่ยังคงสูญหายอยู่ โดยภารกิจนี้เกิดขึ้นได้จากการค้นคว้าโดยละเอียดของนักประวัติศาสตร์และอาสาสมัครทั้งจากไทยและสหรัฐฯ ตลอดจนข้อมูลที่ได้จากบันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์ทำให้เกิดปฏิบัติการนี้ขึ้น”