xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ ประจวบฯ สั่งสอบผู้รับเหมาปล่อยกองเหล็กก่อสร้างรั้วกั้นช้างป่า บริษัทอ้างฝนตก-โควิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ประจวบคีรีขันธ์ - ผู้ว่าฯ ประจวบฯ สั่งรองผู้ว่าฯ นายอำเภอหัวหินตรวจสอบกรณีกองเหล็กก่อสร้างแนวรั้วกั้นช้างป่าละอู ถูกทิ้งร้างข้ามปี หลังชาวบ้านร้องสื่อ บริษัทคู่สัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ อ้างฝนตก-โควิด

นายคมกริช เจริญพัฒนสมบัติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า วานนี้ (1 มี.ค.) ตนเอง พร้อมด้วยนายพลกฤต พวงวลัยสิน นายอำเภอหัวหิน นายวุฒิพงษ์ ศรีช่วย ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กำนันตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ทหารชุดเฉพาะกิจจงอางศึก ตำรวจพลร่ม ชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ 712 ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีชาวบ้านในตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ร้องเรียนกรณีพบกองเหล็กสำหรับสร้างแนวรั้วกั้นช้างจำนวนมาก ถูกบริษัทผู้รับเหมาซึ่งเป็นคู่สัญญากับกรมอุทยานแห่งชาติปล่อยทิ้งร้างข้ามปี

โดยไม่มีการนำเหล็กไปใช้ประโยชน์ ทำให้ขณะนี้เหล็กเกิดสนิมเกาะ มีหญ้า และวัชพืชทั้งเถาวัลย์ ใบไม้ขึ้นปกคลุม เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นงบประมาณแผ่นดินที่มาจากภาษีประชาชน รวมทั้งยังทำให้การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกช้างป่าบุกรุกพื้นที่การเกษตรและที่พักอาศัยล่าช้าออกไปอย่างไม่มีกำหนด อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริงให้ชาวบ้านรับทราบ

จุดแรกที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบคือ บริเวณด้านหน้าทางเข้าที่ทำการชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ ตำรวจพลร่ม ค่ายนเรศวร พบกองวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างแนวรั้วกั้นช้าง ส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กปล้องอ้อย ที่ถูกแปลงสภาพเป็นโครงเหล็กแบบต่างๆ ทั้งโครงเหล็กแบบเสา โครงเหล็กแนวรั้ว เหล็กยึดแนวรั้ว กองรวมกันเป็นแนวยาว ส่วนใหญ่ร้อยละ 90 เป็นโครงเหล็กสภาพเก่า มีสนิมขื้น มีใบไม้และหญ้าขึ้นปกคลุม นอกจากนี้ จะเป็นลวดที่ใช้สำหรับยึดโครงเหล็ก และโครงเสาเหล็กที่มีการเทปูนหล่อฐาน

จากนั้นได้เดินทางไปบริเวณการก่อสร้างแนวรั้วกั้นช้าง หมู่ 2 บ้านฟ้าประทาน ซึ่งมีการก่อสร้างแนวรั้วไปบางส่วน แต่ซึ่งจุดนี้ไม่พบคนงานก่อสร้างทำงานแต่อย่างใด โดยมี นายโอภาศ ใยลีอ่าง หัวหน้าฝ่ายก่อสร้าง บจก.บี เพาเวอร์ แฟคตอรี่ แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นตัวแทนให้ข้อมูล และชี้แจงข้อมูล โดยระบุว่า โครงการนี้มีพื้นที่คาบเกี่ยว 2 ส่วนคือ อยู่ในพื้นที่ อบต.ป่าเด็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และพื้นที่ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ รวมระยะทางการก่อสร้างแนวรั้วทั้งสิ้น 43 กม.

โดยในส่วนของ อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ จะมีการก่อสร้างแนวรั้วระยะทางแบ่งเป็น 2 โซน รวมทั้งสิ้น 26.25 กม. ซึ่งสัญญาเริ่มต้นวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมระยะเวลาการก่อสร้าง 200 วัน สาเหตุที่มีการกองวัสดุที่บริเวณหน้า ที่ทำการชุดพัฒนาการเคลื่อนที่ 712 เป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากบริเวณตรงนี้เป็นรวบรวมวัสดุเพื่อกระจายออกไปใช้ตามหน้างานตามจุดต่างๆ ที่มีการก่อสร้าง ส่วนปัญหาความล่าช้าเกิดจาก 2 ส่วนหลักคือ สภาพอากาศที่มีฝนตกชุก และปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ส่งผลต่อการนำแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่ เมื่อสัญญาสิ้นสุดลง ทางบริษัทฯ มีโอกาสเข้ามาดำเนินการอีกรอบ โดยจำต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนหมดระยะสัญญาในเดือนเมษายน 2565 ซึ่งขณะนี้บริษัทมีแผนจะนำคนงานเข้ามาทำงานเพิ่มขึ้น ส่วนปัญหาเหล็กขึ้นสนิมนั้นจะต้องเข้าสู่กระบวนการพ่นล้างสนิมก่อนนำมาใช้

นายคมกริช กล่าวอีกว่า ได้รับมอบหมายจาก ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริง และหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกับทุกฝ่าย จากการตรวจสอบข้อมูล พบว่าโครงการก่อสร้างรั้วกั้นช้างกึ่งถาวร พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล วงเงิน 89 ล้านบาท โดยได้คู่สัญญาแรกลงวันที่ 31 มีนาคม 2564 ระยะเวลาดำเนินการ 200 วัน ดำเนินการในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่อยู่ระดับสีแดงเข้ม ส่งผลต่อการนำแรงงานเข้ามาทำงาน ประกอบกับเป็นช่วงฝนตกติดต่อกัน ทำให้การทำงานเกินระยะเวลาเกิน 200 วัน ทำให้งบประมาณตกไป

เนื่องจากเป็นงบประมาณฉุกเฉิน แต่โครงการนี้เป็นเรื่องสำคัญ กรมอุทยานแห่งชาติจึงได้จัดสรรงบประมาณปกติเข้ามาดำเนินการต่อตามขั้นตอน ซึ่งได้คู่สัญญารายเดิม โดยสัญญาระยะที่ 2 นี้จะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2565 แต่เนื้องานยังมาไม่ถึงตรงนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่า โครงการเริ่มตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สภาพเหล็กโดนฝน สภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้เกิดสนิม ไม่ใช่การทิ้งร้าง ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติ ได้เน้นย้ำว่า เหล็กที่ขึ้นสนิมจะต้องพ่นล้าง และเคลือบใหม่ก่อนนำไปใช้

หลายภาคส่วนทั้งภาครัฐ อปท.และประชาชน เห็นประโยชน์ร่วมกันว่า แนวรั้วกั้นช้างจะมีประโยชน์ และสามารถแก้ปัญหาช้างป่าได้ จึงอยากเร่งให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ขณะนี้ในส่วนของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จะต้องกำชับหน่วยงานระดับพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ ให้การดำเนินงานแล้วเสร็จตามกำหนด มองว่าอาจจะต้องบริหารสัญญากันใหม่ ทั้งฝ่ายหน่วยงานของกรมอุทยานแห่งชาติ และคู่สัญญาที่เป็นบริษัทเอกชน อาจจะวางแผนก่อสร้างในหลายจุดพร้อมกัน หรือต้องมีการระดมแรงงานเข้ามาเพิ่ม รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเข้ามากำกับ ส่วนกรณีที่อาจจะเกิดเหตุสุดวิสัยไม่เสร็จตามกำหนดจะต้องเสียค่าปรับ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน อยากให้การก่อสร้างแนวรั้วกั้นช้างเสร็จสมบูรณ์จะดีที่สุด










กำลังโหลดความคิดเห็น