มุกดาหาร - ธ.ก.ส.จัดเวิร์กชอปห่วงโซ่เลี้ยงโคเนื้อคุณภาพที่ จ.มุกดาหาร มุ่งเชื่อมโยงเครือข่ายทั้งเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์การเกษตร และผู้ประกอบการ SME ระดมความคิดเห็นการเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ ลดผลกระทบเปิดเสรีการค้า
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องดุสิตา โรงแรมมุกดาหาร แกรนด์ โฮเทล อ.เมือง จ.มุกดาหาร นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่องการเลี้ยงโคเนื้อ โดยมีนายปิยะ บุญมาประเสริฐ ผู้ช่วยสำนักพัฒนา SME และ Startup ( ธ.ก.ส.) พร้อมด้วย นางสาววัชรินทร์ กลางประพันธ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง พร้อมด้วยกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ SMEs ร่วมงานสัมมนา
งานสัมมนาดังกล่าวเพื่อพบปะเชื่อมโยงธุรกิจตลอดห่วงโซ่โคเนื้อ ทั้งผู้ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ผู้เลี้ยงโคเนื้อ ตลอดจนผู้ประกอบการแปรรูปเนื้อโค เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโดยลดต้นทุนการผลิตและสร้างเครือข่ายด้านการตลาดร่วมกัน เป็นการยกระดับขีดความสามารถการแข่งขัน ลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ตลอดห่วงโซ่ธุรกิจโคเนื้อ เพื่อลดผลกระทบการเปิดเสรีทางการค้า
นายณรงค์ ขันติวิริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร กล่าวว่า ธ.ก.ส.จัดให้มีการพบปะตลอดห่วงโซ่ธุรกิจโคเนื้อ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ แลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ โดยมีสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด ที่มีความพร้อมด้านความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์การผลิตอาหารข้นและโคเนื้อแปรรูป มีโรงชำแหละที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน เป็นหัวขบวนในห่วงโซ่ธุรกิจ
พร้อมภาคภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง จำนวน 35 แห่ง ทั้งกลุ่มผู้ผลิตพืชอาหารสัตว์ เช่น สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จังหวัดกำแพงเพชร จำกัด, กลุ่มผู้ผลิตโคเนื้อ เช่น สหกรณ์การเกษตรวังชิ้น จำกัด, กลุ่มผู้รวบรวมโคเนื้อ เช่น สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.จังหวัดมุกดาหาร จำกัด, กลุ่มแปรรูป เช่น สหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด
ให้มาเชื่อมโยงธุรกิจ วางแผนการตลาดร่วมกัน ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนผลิต โดยองค์กรของเกษตรกรได้พบกันโดยตรง การผลิตโคเนื้อคุณภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยใช้ตลาดนำการผลิตอันส่งผลโดยตรงต่อการเกษตรผู้เลี้ยงโคเนื้อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ด้านนางสาววัชรินทร์ กลางประพันธ์ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรหนองสูง จำกัด เปิดเผยว่า สหกรณ์การเกษตรหนองสูงเป็นหัวขบวนการทำธุรกิจ ในส่วนของโคเนื้อ มีกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ได้เชื่อมโยงและมาประชุม รวมถึงกลุ่มที่ผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้เข้ามาร่วมวันนี้ ส่วนต้นน้ำคือ แม่พันธุ์ผลิตลูก กลางน้ำคือ เอาโคที่หย่านมไม่ถึง 6 เดือน เตรียมพร้อมที่จะทำการขุน ปลายน้ำคือเอาโคขุนที่ต่อจาก 6 เดือน ไปขุนต่ออีก 1 ปี แล้วกลับมาเชือดที่สหกรณ์หนองสูง และส่งตลาดต่อ
ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมดประมาณ 7,000 กว่าคน แต่สมาชิกที่ขุนโคให้กับสหกรณ์การเกษตรหนองสูงประมาณ 2,000 กว่าคน และมีโคที่ขึ้นทะเบียนในระบบประมาณ 5,700 กว่าตัว ส่วนตลาดขายส่งส่วนใหญ่ที่กรุงเทพมหานคร 80% รองลงมาเป็นห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ และขายส่งภาคอีสาน ในศูนย์กระจายสินค้าในตัวจังหวัด ส่วนสถานการณ์โควิด ไม่มีผลกระทบต่อสหกรณ์ โคขุนของเราเป็นโคที่ปลอดภัย มีฟาร์มมาตรฐาน โรงชำแหละมาตรฐาน GMP มาตรฐาน ISO มาตรฐานฮาลาล มีระบบที่ปลอดภัย ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบโควิด
สำหรับการตลาด สหกรณ์หนองสูงได้ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หลังจากมีตลาดรองรับ จึงวางแผนการผลิต ไม่ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสมาชิกล้นตลาด โดยสหกรณ์การเกษตรหนองสูงได้รับการสนับสนุนจาก ธ.ก.ส. เป็นโครงการชุมชนสร้างไทย โครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งกู้ล้านละหนึ่งร้อยบาท และทางสหกรณ์หนองสูงได้โครงการนี้มาทั้งหมด 50 ล้านบาท แยกเป็นโครงการรวบรวมผลผลิตโค 30 ล้านบาท และรวบรวมวัตถุดิบอาหารสัตว์ 20 ล้านบาท
นอกจากนี้มีโครงการโคขุนสู่ชุมชน เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนที่ส่งวัวให้กับสหกรณ์เป็นตลาดชุมชน โคที่สมาชิกส่งให้กับเรา เมื่อเชือดแล้วคืนให้กับสมาชิกเป็นตลาดล่าง เพื่อให้ชุมชนได้รับประทานเนื้อโคคุณภาพ ส่วนเนื้อโคขุนมีหลายเกรด หลายราคา และมีราคาที่จับต้องได้ และถูกกว่าโคพื้นเมือง และความปลอดภัยดีกว่า