โดย : นายเกียรติ์ ศุภมาศ นักวิชาการ ด้านเกษตรปศุสัตว์
ราคาหมูที่ปรับขึ้นมาในช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา จากสภาวะการบริโภคที่กลับมาดีขึ้นอย่างฉับพลันทันที อย่างที่นักเศรษฐศาสตร์เรียกว่า Pent Up Demand คือความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากการที่ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยในช่วงก่อนหน้าจากเหตุการณ์บางอย่าง ในที่นี้คือภาวะโรคโควิด-19 ส่งผลให้การกลับมาใช้จ่ายอีกครั้งของผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นมากเกินปกติ ในขณะที่ปริมาณหมูที่เข้าสู่ตลาดกลับลดลง จากภาวะโรคในหมู และการเลี้ยงหมูที่หายไปมากกว่าครึ่งของประเทศ
ภาวะราคาหมูที่สูงขึ้นในช่วงสั้นๆ กลับกลายเป็นช่องทางให้บางฝ่ายใช้เป็นข้ออ้างในการขอนำเข้าหมู มาเพื่อเพิ่มปริมาณหมูในประเทศ ทั้งที่ราคาหมูปรับลดลงต่อเนื่องมาถึง 7 สัปดาห์แล้ว แนวคิดการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้อาจช่วยแก้ปัญหาระยะสั้นได้ แต่ในระยะยาวแล้วไม่ต่างอะไรกับการขุดหลุมฝังเกษตรกรให้ตายทั้งเป็น
เรื่องนี้จึงกลายเป็นความกังวลของภาคผู้เลี้ยง เพราะการมาของสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ย่อมสั่นคลอนเสถียรภาพราคาหมู และความมั่นคงในอาชีพเดียวของพวกเขาได้
• วรรณชัย เอียดใหญ่ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย อ.ห้วยยอด จ.ตรัง บอกว่าที่ผ่านมาแม้ว่าราคาหมูจะปรับเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรเองก็ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก เพราะต้องแบกรับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น จากปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ พันธุ์สัตว์ และค่าบริหารจัดการ ราคาหมูที่สูงขึ้น จึงไม่ได้ทำให้เกษตรกรรายย่อยได้กำไรจากภาวะดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งเหตุผลที่หมูแพงไม่ใช่เพราะหมูขาดตลาด แต่เกิดจากปัจจัยการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงสูง หมูจึงมีราคาแพง โดยปัจจุบันราคาหมูมีแนวโน้มลดลงอีก ทำให้เกษตรกรรายย่อยทั้งหมดเดือดร้อนอย่างหนัก หากรัฐบาลมีการนำเข้าหมูจากสเปน ยิ่งจะซ้ำเติมเกษตรกร อาจทำให้ราคาตกหมูต่ำลงไปอีกจนต้องขาดทุน ที่สำคัญยังอาจนำเชื้อโรคระบาดเข้ามาอีกจะยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์หมูตอนนี้อีก ตอนนี้หมูในตลาดไม่ได้ขาดแคลน ขอภาครัฐอย่านำเข้าหมูจากต่างประเทศ จะทำให้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ อาจต้องเลิกเลี้ยงหมู ส่วนการแก้ปัญหาหมูราคาแพง รัฐควรแก้ที่ต้นทุนให้ถูกลง จะทำให้ราคาหมูในประเทศลดราคาลงตาม
• สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เห็นด้วยว่าการนำเข้าเนื้อหมูเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่เกษตรกำลังประสบอยู่ และทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูไทยอย่างแน่นอน จาดปัจจุบันที่เกษตรกรต้องแบกรับปัจจัยการผลิตที่แพงขึ้นถึง 30-40% โดยเฉพาะวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ราคาปรับสูงขึ้นทุกชนิด และยังมีรายจ่ายที่ต้องเสริมเข้าไปมากกว่าภาวะปกติ ทั้งค่าน้ำยาฆ่าเชื้อและสารเสริมสุขภาพในอาหาร เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคในหมู ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงปรับสูงถึง 94.69 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ผู้เลี้ยงจะมีกำไรได้แค่ทางเดียวคือ หมูต้องมีราคาขายที่เหมาะสม หากกดราคาหมูมีชีวิตลดลงไปมากกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะขาดทุนทันที และไม่สามารถกลับเข้าวงจรการเลี้ยงใหม่ได้ ยิ่งถ้ารัฐยอมให้มีการนำเข้าเนื้อหมู ก็จะทำให้ราคาตลาดร่วงลงทันที และเกษตรกรทั้งหมดจะต้องออกไปจากอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูอย่างแน่นอน
• สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าขณะนี้ราคาหมูลดลงจากกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ด้วยสถานการณ์โควิด-19 และสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ถดถอย เมื่อความต้องการบริโภคน้อยลง ทำให้การนำหมูเข้าโรงเชือดลดลง ราคาหมูหน้าฟาร์มและเนื้อหมูหน้าเขียงจึงปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังไม่สามารถคาดเดาว่าราคาจะลดลงอย่างยั่งยืนหรือไม่ ส่วนในภาคการเลี้ยงต้นทุนการผลิต ทั้งราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ และค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งเริ่มขายหมูขาดทุนแล้ว หากรัฐบาลอนุญาตให้นำเข้าหมูได้ กลไกตลาดหมูในประเทศจะผิดเพี้ยนไปทันที ผู้เลี้ยงหมูจะยิ่งขาดทุนหนักกว่าเดิม และมีผลอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของเกษตรกรเลี้ยงหมูไทย ซึ่งขณะนี้ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่ายังไม่มีนโยบายนำเข้าหมูจากต่างประเทศ ถือเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เพราะการไม่ให้มีการนำเข้าหมูจะเป็นแรงจูงใจสำคัญ ให้เกษตรกรที่หยุดเลี้ยงไปก่อนหน้านี้หันกลับมาเลี้ยงหมูเพื่อเพิ่มปริมาณเข้าสู่ระบบ ช่วยสร้างเสถียรภาพทั้งปริมาณและราคาหมูในประเทศได้อย่างยั่งยืน
วันนี้สิ่งที่ภาครัฐควรเร่งดำเนินการ คือการสนับสนุนให้เกษตรกรกลับเข้าระบบให้เร็วที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ มากกว่าการนำเข้าที่จะก่อปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกร ขณะเดียวกันต้องเร่งช่วยลดภาระของเกษตรกร โดยเฉพาะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลายเป็นภาระนักที่ตกอยู่กับผู้เลี้ยง อย่าให้เนื้อหมูนำเข้าเป็นอุปสรรคของการแก้ปัญหาหมู พังแผนพื้นฟูการเลี้ยงหมูรายย่อย-เล็ก และทำลายเสถียรภาพของอุตสาหกรรมหมูในที่สุด