xs
xsm
sm
md
lg

“อัครารีซอร์สเซส” เปิดขุมเหมืองแจงยิบ ปม สวล.-ข้อครหาไซยาไนด์รั่วซึม ก่อนเตรียมเดินเครื่องร่อนทองต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร - เหมืองทองอัคราเรียงแถวแจง กมธ.ป.ป.ช.สภาผู้แทนฯ พร้อมนำส่องขุมเหมือง-บ่อทิ้งกากแร่-ข้อครหาไซยาไนด์รั่วซึม ยันสารพัดกองทุนหนุนชุมชน หลังได้ไฟเขียวต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม-ประทานบัตร ก่อนเดินหน้าเตรียมเปิดร่อนทองต่อ


ความคืบหน้ากรณีเหมืองทองอัครา ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ของบริษัทอัครารีซอร์สเซส จำกัด ที่รัฐบาล คสช.-พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช้อำนาม ม.44 สั่งปิดเหมือง จากนั้นบริษัทคิงส์เกต ซึ่งเป็นบริษัทแม่สัญชาติออสเตรเลีย ได้ร้องขอความเป็นธรรมไปยังอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศและมีการเจรจาไกล่เกลี่ยหาข้อยุติข้อพิพาทกันเรื่อยมานั้น

จนถึงขณะนี้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศก็ยังไม่ได้สรุป แต่รัฐบาลปัจจุบันได้ไฟเขียวต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรม-ประทานบัตร ปูทางเปิดเหมืองทองอีกครั้ง ท่ามกลางกระแสสนับสนุนและต่อต้าน

ล่าสุดนายจารึก ศรีอ่อน รองประธาน กมธ.ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎร พร้อมคณะ ได้ร่วมกันลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในรัศมี 5 กม.รอบเหมือง-ส่วนราชการระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด รับฟังการบรรยายสรุปจากนายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัทอัคราฯ นางสาวยุวธิดา พุกอ่อน หัวหน้างานฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และการพัฒนา บริษัทอัคราฯ พร้อมเข้าดูสภาพโรงงานประกอบโลหกรรม พื้นที่ที่ได้รับประทานบัตร บ่อทิ้งกากแร่ ห้วงสุดสัปดาห์-ต้นสัปดาห์นี้

นายสุรชาติ หมุนสมัย ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัทอัคราฯ ได้ชี้แจงต่อ กมธ.ป.ป.ช.ว่า การดำเนินการของเหมืองทองอัครามีมาตรฐานระดับโลก ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นประจำและต่อเนื่องมีหลักฐานแสดงชัดเจน

ส่วนเรื่องสารไซยาไนด์ในบ่อทิ้งกากแร่ที่ถูกกล่าวหาโจมตีนั้น ยืนยันว่ามีแค่เพียง 0.3 ซึ่งถ้าเทียบกับกาแฟ 1 แก้ว ก็จะมีสารไซยาไนด์ปนอยู่ถึง 6 PPM นอกจากนี้มาตรฐานป้องกันการรั่วซึมของบ่อทิ้งกากแร่บ่อที่ 1-2 ก็มีบ่อสังเกตการณ์เป็นบ่อน้ำตื้นลึก 15 เมตร บ่อน้ำลึก 60 เมตร อีก 40 บ่อ เจาะคู่กันในแต่ละจุดห่าง 5 เมตร ดังนั้นหากมีน้ำจากบ่อทิ้งกากแร่รั่วซึมก็จะต้องไหลเข้าสู่บ่อดัก 40 บ่อนี้ก่อน ซึ่งตั้งแต่ดำเนินกิจการมาจนถึงปี 64 ไม่เคยตรวจเจอสารไซยาไนด์ในบ่อเหล่านี้เลย


ขณะที่นายสุรชาติ ผู้จัดการฝ่ายวิทยาศาสตร์และสุขภาพ บริษัทอัคราฯ ชี้แจงต่อ กมธ.ว่า อัคราฯ จ่ายค่าไฟฟ้า 40 ล้านบาท/เดือน, ซื้อก๊าซ-ซื้อน้ำมัน 20 ล้านบาท/เดือน, จ่ายเงินเป็นค่าจ้างเงินเดือนพนักงานในช่วงดำเนินกิจการ 20 ล้านบาท/เดือน, จ่ายค่าภาคหลวงตั้งแต่ มิ.ย. 44-มี.ค. 59 รวมเป็นเงิน 4,030 ล้านบาท

นอกจากนี้ นางสาวยุวธิดา พุกอ่อน หัวหน้างานฝ่ายชุมชนสัมพันธ์และการพัฒนาบริษัทอัคราฯ ให้ข้อมูลว่า เหมืองทองอัครามีกองทุนที่ชุมชนจะได้รับประโยชน์โดยตรงก่อนที่จะถูกสั่งปิด เช่น กองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและพัฒนาคุณภาพชีวิต 85 ล้านบาท กำกับดูแลโดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.), กองทุนพัฒนาท้องถิ่นมีเงิน 60 ล้านบาท เงินก้อนนี้ในช่วงปี 60-64 ชาวบ้าน 29 หมู่บ้าน 3 ตำบลรอบเหมืองทองอัคราทำเวทีประชาคมขอใช้เงินดังกล่าวใน 3 รอบกิจกรรม ตกถึงมือชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว

กองทุนอัคราพัฒนาชุมชนมีเงิน 90 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงแนบท้ายประทานบัตร ซึ่งชุมชนที่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากกองทุนนี้ คือ ชาวบ้านตำบลเขาเจ็ดลูก-ตำบลท้ายดง, กองทุนพัฒนาหมู่บ้านที่เกิดจากการขยายโรงงานประกอบโลหกรรม โรงที่ 2 อัคราส่งเงินเข้ากองทุนในช่วงปี 55-60 ให้กับหมู่ 8 บ้านนิคม-หมู่ 3 บ้านเขาดิน ต.เขาเจ็ดลูก หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย


ทั้งนี้ นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการฯ ให้สัมภาษณ์ว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ได้พบกับตัวแทนส่วนราชการระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น พนักงานเหมืองทองอัครา ชาวบ้านฝ่ายสนับสนุน ชาวบ้านฝ่ายคัดค้าน ที่ให้ข้อมูลหลากหลาย แต่ขณะนี้อัคราได้ต่ออายุประทานบัตร 4 แปลง จึงต้องมาดูข้อมูลเชิงลึกและได้ให้คำแนะนำว่าถ้าอัคราฯ จะเปิดดำเนินกิจการต้องไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้ดีอย่าให้ใครเดือดร้อน กมธ.ป.ป.ช.ยืนยันในความเป็นกลาง เข้าใจและเห็นใจในทุกฝ่าย แต่ทุกอย่างต้องคำนึงถึงประชาชนและผลประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับเป็นหลัก

นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้แสดงความคิดเห็นว่า ลงพื้นที่ดูตั้งแต่เรื่องการขออาชญาบัตรพิเศษ รับฟังความคิดเห็นรอบด้านในทุกมิติ เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ข้อยุติ ซึ่งเรื่องราวต่างๆ มีมากมายที่รัฐบาลต้องดูแลและให้ผู้ประกอบการแก้ไขเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมถึงวิเคราะห์มองว่าค่าภาคหลวงที่รัฐได้รับ 10-12% จะคุ้มค่ากับการสูญเสียทรัพยากรของชาติหรือไม่ รวมถึงผลกระทบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้และอีก 10 ปีข้างหน้า คือถึงปี 2574 ที่เหมืองทองอัคราได้รับการต่อประทานบัตร

อย่างไรก็ตาม ปัญหาก็คือ บริษัทคิงส์เกต ที่ฟ้องรัฐบาลไทยกับอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศนั้นเรื่องยังคงค้างการพิจารณา แต่ทำไมรัฐบาลไทยกลับต่อประทานบัตรให้กับเหมืองทองอัครา ซึ่งเป็นข้อปัญหาในทางกฏหมายที่จะต้องตรวจสอบกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับการตรวจสอบเหมืองทองอัครายังไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้ เนื่องจาก กมธ.ป.ป.ช.คณะดังกล่าวกำลังรวบรวมเอกสารและจะเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอดีต-ปัจจุบัน ให้เข้าชี้แจงที่คณะ กมธ.ป.ป.ช.สภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย














กำลังโหลดความคิดเห็น