xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! อดีตแกนนำต้านเหมืองทองอัคราโพล่งต่อหน้า กมธ.ป.ป.ช.เคยค้านเปิดขุมเหมืองหวังขายที่ดิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร - กมธ.ป.ป.ช.ยกทีมลงพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนชาวบ้านรอบเหมืองทองอัคราก่อนเข้าดูขุมเหมืองวันนี้ เจอทั้งคนยกป้ายเชียร์หนุน-กลุ่มต่อต้าน แถมพบลุงวัย 72 ปี อดีตแกนนำต้านเหมืองเปิดปากเคยต่อต้านเพื่อขายที่ดิน


นายจารึก ศรีอ่อน รองประธานคณะกรรมาธิการ ป.ป.ช., นายธีรัจชัย พันธุมาศ โฆษกคณะกรรมาธิการ, นายประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ เลขานุการคณะกรรมาธิการ และคณะ ร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบการออกประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำและผลกระทบที่เกิดจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด หรือพื้นที่ทำเหมืองทองอัครา ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

กมธ.ป.ป.ช.ได้พบกับนายชัยพร สุดสิน อายุ 44 ปี อยู่บ้านเลขที่ 50 หมู่ 7 บ้านทุ่งนางาม ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ประธานชมรมคนรักเหมืองทอง พร้อมกลุ่มชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆเหมืองทองอัคราในพื้นที่ ต.เขาเจ็ดลูก จ.พิจิตร, ต.ท้ายดง จ.เพชรบูรณ์, ต.วังโพรง จ.พิษณุโลก กว่า 200 คน

โอกาสนี้ กลุ่มชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อ กมธ.ป.ป.ช. ระบุเนื้อหาโดยย่อว่าสนับสนุนการเปิดกิจการของเหมืองทองอัคราพร้อมทั้งยืนยันว่าการประกอบกิจการของเหมืองทองอัคราไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นอยู่ และสุขภาพของชาวบ้าน รวมถึงพนักงาน-คนงานอีกนับพันคนก็ต่างอยู่ดีมีสุข สุขภาพแข็งแรง ไม่ได้กระทบกระเทือนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างที่เป็นข่าวแต่อย่างใด


นายเอี่ยม ธีระชาติดำรง อายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 24/1 หมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก ปัจจุบันเป็นสมาชิก อบต.เขาเจ็ดลูก กล่าวว่า ตนเป็นผู้ชุมนุมต่อต้านคัดค้านการดำเนินกิจการของเหมืองทองอัคราโดยอ้างเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ อากาศเป็นพิษ สารพิษ สารไซยาไนด์ ฯลฯ

แต่ที่จริงแล้วก็เพื่อต้องการจะขายที่ดินของตนเองให้กับเหมืองทองอัคราจึงต้องออกมาโจมตีอยู่นานหลายปี จนในที่สุดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2556 เหมืองอัคราก็ยอมซื้อที่ดินของตนเองจำนวน 48 ไร่ 2 งาน ได้ราคา 27 ล้านบาท และได้ค่ารื้อถอนบ้านอีก 8 แสนบาท ดังนั้นวันนี้จึงขอพูดความจริงที่ผ่านมาก็เพื่อหวังขายที่ดินดังกล่าว ดังนั้นเรื่องสิ่งแวดล้อมจึงเป็นเพียงส่วนประกอบของการกดดันเหมืองทองอัคราให้ซื้อที่ดินเท่านั้นเอง

ส่วนเรื่องน้ำ ดั้งเดิมไม่มี อบต. พอเจาะบ่อบาดาลขึ้นมาชาวบ้านก็ใช้ตามนั้น ไม่มีการตรวจคุณภาพน้ำ หรือพบสารโลหะหนักใดๆ ทั้งสิ้น แต่รู้สึกว่าตอนนั้นน้ำมีสนิมเหลืองๆ เท่านั้น ซึ่งเราไม่รู้เป็นสนิมอะไร มีพิษหรือไม่มีพิษ กระทั่งเหมืองทองมาเปิด ก็มีการตรวจน้ำแล้วพบแมงกานีส มีสนิมเหล็ก ส่วนไซยาไนด์ไม่รู้ว่ามีจริงหรือไม่ แต่ที่ใช้น้ำมาจนถึงอายุ 72 ปี ไม่เคยมีผลกระทบอะไร


ขณะที่ น.ส.พิชญ์สิณี สินธรธรรมทัต หรือ น.ส.สื่อกัญญา ธีระชาติดำรง ซึ่งเป็นชาวบ้านหมู่ 9 บ้านเขาหม้อ ต.เขาเจ็ดลูก ซึ่งมีที่อยู่อาศัยใกล้กับเหมืองทองอัคราและเป็นแกนนำกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ได้ชี้แจงต่อคณะคณะกรรมธิการฯ ว่า ตนและเพื่อนบ้านอีกนับสิบรายยืนยันว่าการประกอบกิจการของเหมืองทองอัครามีหลายสิ่งหลายอย่างทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษและสุขภาพ ซึ่งพวกตนเองร้องทุกข์ ร้องเรียน ฟ้องศาลในหลายคดี แต่ทำไมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กลับปล่อยให้เหมืองทองอัครากลับมาดำเนินกิจการได้อีกครั้ง

ทั้งนี้ หลังจาก กมธ.ป.ป.ช.ฟังเรื่องต่างๆ จากชาวบ้านรอบเหมืองแล้ว ยังได้ซักถามนายอำเภอทับคล้อ, อุตสาหกรรมจังหวัด, สิ่งแวดล้อมจังหวัด, สาธารณสุขอำเภอทับคล้อ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมถึงขอเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม พร้อมจะประชุมกันต่ออีกครั้งในวันจันทร์ที่ 7 ก.พ. 65 ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดพิจิตร ก่อนที่จะลงพื้นที่เข้าไปดูภายในเหมืองทองอัคราในช่วงบ่ายวันเดียวกัน เพื่อดูข้อเท็จจริงเรื่องบ่อทิ้งกากแร่และสภาพแวดล้อมต่างๆ




กำลังโหลดความคิดเห็น