xs
xsm
sm
md
lg

“อเนก” ติดตามผลการดำเนินงาน ม.ราชภัฏอุดรธานี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - “อเนก” รมว.การอุดมศึกษาฯ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน ม.ราชภัฏอุดรธานี ชมความก้าวหน้าศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ พร้อมด้วยโครงการอื่นๆ ในพื้นที่ จ.อุดรธานี

วันนี้ (3 ก.พ.) ที่ห้องประชุม สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และผู้บริหารกระทรวง ลงพื้นที่ จ.อุดรธานี ตรวจติดตามผลการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี โดยมี ผศ.ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล รักษาราชการแทนอธิการบดี พร้อมด้วยผู้บริหาร คณาจารย์ นักศึกษาร่วมในกิจกรรม


การลงพื้นที่เยี่ยมชมความก้าวหน้าศูนย์ออกแบบสร้างสรรค์ผ้าและสิ่งทอ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี หรือ FTCDC : Fabric and Textile Creative Design Center มี ผศ.ดร.ธีระยุทธ์ เพ็งชัย รองอธิการบดี ในนามประธานศูนย์ FTCDC เป็นผู้บรรยายสรุป และมีการแสดงเดินแบบผ้าไทย Circular design แสดงแบบโดยนักศึกษามหาวิทยาลัย ซึ่งในปีงบประมาณ 2564 ได้ดำเนินกิจกรรมพัฒนาเพื่อยกระดับผ้าทอชุมชนสู่สากล เช่น พัฒนาแหล่งเรียนรู้ผ้าทอ “พิพิธภัณฑ์ผ้าทออีสาน” และการถอดรูปแบบลวดลายขิดดั้งเดิมจากม้วนผ้าขิดที่ยาวที่สุดในโลก 600 ลาย

พัฒนาแหล่งเรียนรู้ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติดอกดาวเรืองคำชะโนด ส่งเสริมปลูกฝ้ายสี พัฒนานวัตกรรมมาตรฐานสีย้อมผ้าธรรมชาติจากดอกบัวแดง ดอกจาน การพัฒนาการผลิตเนื้อคราม จากครามพื้นเมืองจังหวัดอุดรธานี และการออกแบบพัฒนาลวดลายผ้าขิดดั้งเดิมเพื่อเพิ่มมูลค่าผ้าขิดอุดรธานี เป็นต้น

จากนั้นได้เยี่ยมชมบูทนิทรรศการผลการดำเนินงานโครงการของมหาวิทยาลัย เช่น นิทรรศการ “การผลิตอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ” ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล U2T ซึ่งในปี 2564 ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอาหารสัตว์ต้นทุนต่ำ และร่วมพัฒนารูปแบบการเลี้ยงและบริหารจัดการด้านอาหารสำหรับโคเนื้อ และไก่ไข่ ให้เกษตรกรในพื้นที่ตำบลแสงสว่าง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ทำให้เกษตรกรมีเงินเหลือเก็บมากขึ้น พึ่งพาตนเองได้ โดยใช้ทรัพยากรท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด




นิทรรศการโครงการ SME IDE หรือโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs มุ่งสู่ผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ซึ่งในปี 2564 ได้ร่วมกับบริษัทเอกชนพัฒนานวัตกรรมการสร้างแพลตฟอร์ม Ecosystem สำหรับการเพาะปลูกพืชสมุนไพร โดยนำเอาเทคโนโลยี IoT พร้อมกับเก็บข้อมูลเพื่อใช้วิเคราะห์ ร่วมกับซอฟต์แวร์ที่ออกแบบมาสำหรับการบริหาร โดยมุ่งเน้นเรื่องการบริหารต้นทุน และการวางแผนการปลูก เกิดเป็นแพลตฟอร์มที่เป็น One Stop Service สำหรับการปลูกพืชสมุนไพร จนนำไปสู่การสร้างงานสร้างอาชีพ และ Ecosystem สำหรับการเกษตร

นิทรรรศการ "โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่" โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ร่วมกับภาครัฐและเอกชน พัฒนาหลักสูตรประเภทประกาศนียบัตร ซึ่งผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาทักษะ Re-skill Up-skill New skill และนำรายวิชาที่เรียนเทียบโอนเก็บเป็นหน่วยกิตได้ ประกอบด้วยหลักสูตร 3 หลักสูตรคือ 1.หลักสูตรระบบกล้องวงจรปิดสำหรับเมืองอัจฉริยะ 2.หลักสูตรประกาศนียบัตรการดูแลผู้สูงอายุ และ 3.หลักสูตรหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม


นิทรรศการอีสานพาเลท ซึ่งเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับสี โดยอ้างอิงจากงานฮูบแต้ม หรือจิตรกรรมฝาผนังที่พบในอีสานทั้งหมดทุกหลังในสิมรุ่นเก่า ก่อน พ.ศ.2500 ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการศึกษาสีโบราณเพียงเท่านั้น แต่ในทางกลับกันนั้นถือได้ว่าเป็นการผลักดันให้สีอีสาน ได้เป็นสีที่สามารถใช้ร่วมกับสีที่เป็นสากลร่วมสมัยได้อย่างลงตัว ถูกต้องตามหลักทฤษฎีสีอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น