ระยอง - ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ชี้เหตุน้ำมันรั่วปี 65 เบากว่าเมื่อครั้งปี 56 จากปัจจัยสำคัญเรื่องแรงลม ขณะเดียวกัน ให้เฝ้าระวัง 2 จุดใหญ่ที่คาดว่าอาจมีคราบน้ำมันพัดเข้าพื้นที่ ทั้งหัวโค้งท่าเรือไออาร์พีซี เกาะเสม็ด-บ้านเพ
วันนี้ (28 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อป้องกันไม่ให้คราบน้ำมันที่เกิดจากการรั่วไหลจากท่อใต้ทะเล บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม ไฟน์นิ่ง จำกัด ถูกคลื่นซัดเข้าฝั่งจนสร้างความเสียหายต่อการท่องเที่ยวและการดำเนินชีวิตของชาวบ้านใน จ.ระยองว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา พนักงานบริษัท สตาร์ปิโตรเลียมฯ และผู้รับเหมาประมาณ 200 คนได้ร่วมกันทำความสะอาดและเก็บขยะ บริเวณลานหินขาว ริมชายหาดแม่รำพึง
เพื่อทำการตั้งเต็นท์บัญชาการและวาดแผนที่จำลองเหตุการณ์ที่คาดว่าน้ำมันจะไหลเข้าสู่บริเวณชายหาด และยังได้นำบูมมาติดตั้งเป็นระยะทางยาวหลายกิโลเมตรเพื่อป้องกันคราบน้ำมันไม่ให้เข้าพื้นที่
โดยมี นางพรศรี สุทธนารักษ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายธเนศ มั่นน้อย ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 2 (ชลบุรี) ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีกิจการพิเศษ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตบางเขน นายธวัช เจนการ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมสังเกตการณ์ พร้อมให้การสนับสนุนเรือลากจูงบูมกลางทะเล
ก่อนนั่งเรือพยูน ของกรมทรัพยากรทางทะเลเพื่อเข้าสำรวจบริเวณที่คาดว่าคราบน้ำมันจะไหลเข้าสู่ชายหาด รวมทั้งสำรวจบริเวณที่เกิดเหตุการณ์รั่วไหลของน้ำมันดิบจำนวนกว่าแสนลิตร ที่อยู่ห่างจากชายฝั่งประมาณ 20 ไมล์ทะเล
ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เผยว่า จากการตรวจสอบการไหลของคราบน้ำมันจากดาวเทียม TerraSAR-X และจากโดรน รวมทั้งเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยงานต่างๆ จนได้ข้อมูลล่าสุดว่าน้ำมันเข้ามาใกล้ฝั่งมากขึ้นเรื่อยๆ และยังแบ่งการกระจายตัวของคราบน้ำมันเป็น 2 ส่วน
โดยส่วนแรกที่มีลักษระเป็นหย่อมเล็กซึ่งอยู่ใกล้กับท่าเรือของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และส่วนที่ 2 มีลักษณะเป็นหย่อมขนาดใหญ่และกำลังทยอยไหลเข้าสู่ฝั่ง
“ในช่วงเช้าลมทะเลค่อนข้างนิ่งและน้ำยังเรียบอยู่ แต่ในช่วงบ่าย คาดว่าน้ำและลมจะแรงขึ้น จึงเชื่อว่าน้ำมันก้อนใหญ่จะเคลื่อนตัวไปทางตะวันออก และพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังสูงสุดมี 2 ส่วนคือ ส่วนแรกบริเวณหัวโค้งเลย บริษัท ไออาร์พีซี ยาวไปถึงก้นอ่าวและบ้านเพ ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร อีกส่วนเป็นพื้นที่สีส้มที่จะอยู่บริเวณเกาะเสม็ดและบ้านเพ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าแต่ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพอากาศ”
ดร.ธรณ์ ยังเผยอีกว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วกลางทะเล จ.ระยอง ครั้งนี้มีความแตกต่างจากปี 2556 อย่างเห็นได้ชัดกล่าวคือ ในช่วงปี 2556 เหตุการณ์เกิดขึ้นในเดือน ต.ค.ซึ่งเป็นช่วงลมแรงจึงทำให้การสกัดกั้นคราบน้ำมันทำได้ยาก จนทำให้คราบน้ำมันไหลเข้าสู่พื้นที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด เป็นระยะทางยาวประมาณ 400 เมตร
“แต่เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดในช่วงเดือน ม.ค. ซึ่งแรงลมเบากว่ากัน จึงทำให้เจ้าหน้าที่มีเวลากักเก็บน้ำมันประมาณ 2-3 วัน เพราะฉะนั้นหย่อมน้ำมันจะกระจายตัวมากกว่าและเป็นการกระจายเป็นจุดๆ ไม่ใช่ลักษณะดำมืดหรือเป็นทะเลดำ แบบที่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
ส่วนการกำจัดคราบน้ำมันด้วยการใช้สารเคมีต้องใช้ในพื้นที่ที่มีน้ำลึกด้านนอกและต้องไม่ใช้ในพื้นที่ใกล้ฝั่ง ส่วนพื้นที่ด้านในต้องใช้บูมในการกั้นชายหาด และหากพบว่าคราบน้ำมันไหลเข้าชายหาดบริเวณใดเป็นจำนวนมากวิธีจัดเก็บคือการซับน้ำมัน
“วันนี้เจ้าหน้าที่จากคณะประมงได้เก็บตัวอย่างพื้นดิน พื้นทรายในทะเลก่อนที่จะมีคราบน้ำมันมาถึง ขณะที่บริเวณหาดแม่รำพึง ซึ่งมีหอยเสียบจำนวนมาก คณะประมงได้เก็บตัวอย่างในหลายจุดเพื่อประมวลว่ามีผลกระทบอย่างไร ขณะที่สารเคมีจะสะสมในพื้นทราย หรือปะการังประมาณ 2-3 ปี จึงต้องศึกษาเป็นระยะยาว” ดร.ธรณ์ กล่าว