เชียงราย – การส่งออกหมู-ไก่ โค/กระบือมีชีวิตผ่านแม่น้ำโขงชะงัก หลังจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ยเมืองท่าหน้าด่านใหญ่สุดเหนือสามเหลี่ยมทองคำ-สกัดเส้นทางขนส่งผ่านพม่าซ้ำ แถมเมียนมาปิดท่าสบหรวยอีก
รายงานข่าวจากด่านศุลกากรเชียงแสนแจ้งว่า แม้การส่งออกตามแนวชายแดนไทย-เพื่อนบ้าน จะซบเซา แต่ในปี 2563 ไทยยังคงส่งออกโค-กระบือมีชีวิต จากท่าเรือ อ.เชียงแสน ได้รวม 13,944 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,232,375,000 บาท สุกรมีชีวิต น้ำหนักรวม 10,343 ตัน มูลค่า 519,559,000 บาท และในปีงบประมาณ 2564 ส่งออกโค-กระบือมีชีวิต น้ำหนักรวม 2,122 ตัน มูลค่า 187,426,500 บาท สุกรมีชีวิต น้ำหนักรวม 8,490 ตัน มูลค่า 424,490,000 บาท
น.ส.ผกายมาศ เวียร์รา รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง กล่าวว่าหลังจากทางการจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ย ซึ่งเป็นเมืองท่าหน้าด่านของจีนริมแม่น้ำโขง ทำให้การส่งออกสินค้าประเภทสัตว์มีชีวิตทั้งโคกระบือ-สุกร หยุดชะงักหมด
แม้หลังจีนปิดท่าเรือกวนเหล่ยช่วงแรกๆยังมีการส่งออกผ่านท่าเรืออื่นได้ แต่ต่อมาเมียนมาได้ปิดท่าเรือสบหรวย ท่าเรือริมน้ำโขงเหนือสามเหลี่ยมทองคำฝั่งเมียนมา ซึ่งมีเส้นทางเชื่อมโยงไปถึงจีนตอนใต้ลงอีก และทางการจีนเข้มงวดทั้งด่านทางแม่น้ำโขง-ทางบกอย่างหนัก
เฉพาะห้วงปี 2563-2564 มีสุกรมีชีวิตถูกส่งออกจะเข้าทางสบหรวยแล้วถูกทิ้งไว้จนตายและต้องนำมาทิ้งแม่น้ำโขง เสียหายกันหลายร้อยล้านบาท ทำให้การส่งออกสินค้าประเภทนี้หยุดชะงักไปโดยปริยาย เพราะตลาดจีนเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทยด้านเชียงราย
“สถานการณ์ปัจจุบันคือ การขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแม่น้ำโขงเขียงแสนแห่งที่ 2 และท่าเรืออื่นๆ ซบเซาสิ้นเชิง แต่ละวันแทบไม่มีเรือขนส่งสินค้าเลย”
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยพร้อมคณะ ได้ลงพื้นที่ชายแดนเชียงราย และเข้าพบหารือนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าฯเชียงราย ถึงกรณีที่ไทยยังคงปิดพรมแดนตลอดแนวเพื่อป้องกันไวรัสโควิด-19 เฉพาะเชียงราย เปิดเพียงจุดผ่านแดนถาวร 3 จุดเพื่อการขนส่งสินค้าเท่านั้นคือ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 2 อ.แม่สาย ท่าเรือแม่น้ำโขงเชียงแสนแห่งที่ 2 อ.เชียงแสน และสะพานมิคตรภาพไทย-สปป.ลาว ข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 อ.เชียงของ
ขณะที่ทางหอการค้าเชียงราย เคยเสนอให้มีการเปิดสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 เพิ่มอีก 1 จุด และทางจังหวัดเชียงราย เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยให้เปิดจุดผ่อนผอนเพิ่มอีก 7 จุด แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับการอนุมัติให้เปิดแต่อย่างใด
ซึ่งนายภาสกร ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน กรณีเปิดสะพานข้ามลำน้ำสายแห่งที่ 1 อ.แม่สาย เพื่อแบ่งเบากรณีการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณมากในสะพานแห่งที่ 2 เพราะสะพานแห่งแรกติดกับเขตชุมชนและไม่มีจุดพักสินค้าๆ เบื้องต้นทางภาคเอกชนเสนอให้ใช้จุดพักสินค้าที่สะพานแห่งที่ 2 และขนส่งสินค้าเข้าออกผ่านสะพานแห่งที่ 1 แต่ก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลจนถึงขณะนี้ ส่วนการขนส่งทางเรือแม่น้ำโขงนั้นอยู่ระหว่างรอทางการจีนเปิดท่าเรือกวนเหล่ย-สปป.ลาว เปิดเมืองท่าต่างๆ ต่อไป.