xs
xsm
sm
md
lg

ค้าลุ่มน้ำโขงยังไม่รู้อนาคต! จีนปัดตอบวันเปิดท่าเรือใหญ่เหนือสามเหลี่ยมทองคำ หลังปิดหนีโควิดนานกว่า 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สามเหลี่ยมทองคำ - ทิศทางการค้าไทย-พม่า-ลาว-จีนผ่านแม่น้ำโขงยังไร้วี่แววกลับมาเปิดได้เต็มตัว หลังจีนปัดตอบวันเปิดท่าเรือกวนเหล่ย เมืองท่าการค้าใหญ่สุดเหนือสามเหลี่ยมทองคำ ปิดหนีโควิดนานกว่า 2 ปี บอกแค่จะเปิดเมื่อถึงเวลาเหมาะสม


ความคืบหน้ากรณี สป.จีนปิดท่าเรือกวนเหล่ย เมืองท่าหน้าด่านริมฝั่งแม่น้ำโขง เขตมณฑลยูนนาน มาตั้งแต่ต้นปี 2562 จนทำให้การค้าทางเรือแม่น้ำโขงในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ไทย จีน สปป.ลาว และเมียนมา ซบเซาลงอย่างหนักและยาวนานกว่า 2 ปี เนื่องจากไทย-จีนเป็นคู่ค้าสำคัญ

กระทั่งต่อมาทางการไทยได้มีหนังสือขอให้ทางการจีนทบทวนความร่วมมือตามข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำโขงที่มีร่วมกันทั้ง 4 ชาติ และแจ้งถึงความพร้อมของท่าเรือในแม่น้ำโขงของประเทศไทย ทั้งที่ท่าเรือ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยเฉพาะมาตรการในการป้องกันการระบาดของท่าเรือต่างๆ เพื่อให้มีการเปิดเพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างกันอีกครั้ง

ล่าสุด Mr. Ma Wenling ประธานคณะกรรมการร่วมเพื่อประสานการดำเนินการตามความตกลง 4 ฝ่ายว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River : JCCCN) ฝ่ายจีนได้มีหนังสือแจ้งถึงนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งอธิบดีกรมเจ้าท่า และเป็นประธาน JCCCN ของประเทศไทย

ระบุว่าทางการจีนให้ความสำคัญต่อข้อเสนอของทางการไทยดังกล่าว แต่ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 จะมีการพิจารณาเปิดเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะแจ้งให้ทราบต่อไป ทั้งนี้ ทาง JCCCN ฝ่ายจีนยังคงให้ความสำคัญต่อสมาชิก JCCCN เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ความร่วมมือในแม่น้ำโขง

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ทาง JCCCN ฝ่ายไทยได้มีหนังสือถึง JCCCN ของประเทศจีนเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 และทาง Mr. Ma Wenling ประธาน JCCCN ฝ่ายจีน ได้มีหนังสือตอบกลับมาในวันที่ 27 ธ.ค. 2564 กระทั่งปัจจุบันสถานการณ์การคมนาคมและขนส่งสินค้าทางเรือแม่น้ำโขงตอนบนยังคงซบเซา

เพราะนอกจากทางการจีนจะปิดท่าเรือหน้าด่านดังกล่าว ทาง สปป.ลาวยังปิดท่าเรือตลอดแนว ขณะที่เมียนมามีการเปิดท่าเรือบ้านโป่ง จ.ท่าขี้เหล็ก ห่างจากสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ไปทางทิศเหนือประมาณ 20 กิโลเมตรเท่านั้น ส่วนท่าเรือสบหรวย ที่เป็นท่าเรือใหญ่อีกแห่งก็ถูกปิดลงเมื่อเร็วๆ นี้เช่นกัน

รายงานจากด่านศุลกากรเชียงแสนระบุว่า ในปี 2561 มีการค้าชายแดนผ่านท่าเรือเชียงแสน แยกเป็นการส่งออกไม่รวมสินค้าผ่านแดนมูลค่า 18,452.78 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 709.10 ล้านบาท ต่อมาปี 2562 เริ่มเกิดวิกฤตโควิด-19 ช่วงต้นปี การส่งออกลดลงเหลือ 11,681.93 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 583.80 ล้านบาท และทางการจีนได้ปิดท่าเรือกวนเหล่ยลงในปีเดียวกันทำให้ปี 2563 มูลค่าการส่งออกลดลงเหลือ 7,536.33 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 408.03 ล้านบาท และในปี 2564 ที่ผ่านมามีการส่งออกเหลือมูลค่า 7,526.51 ล้านบาท และนำเข้ามูลค่า 331.19 ล้านบาท

สินค้าส่งออกผ่านด่านฯ เชียงแสน ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง รถยนต์ สุกรมีชีวิต บุกอบแห้ง บุหรี่ สุราวิสกี้ เบียร์ โคและกระบือ น้ำมันปาล์ม ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นกระเทียมอบแห้ง เมล็ดดอกทานตะวัน กระเทียมสด ชิ้นส่วนกระบือแช่แข็ง ฯลฯ


กำลังโหลดความคิดเห็น