xs
xsm
sm
md
lg

ระยอง-แปดริ้วตรวจเข้มห้องเย็นเก็บเนื้อสัตว์ป้องกันการกักตุนเนื้อหมู เบื้องต้นไม่พบกระทำผิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ระยอง-แปดริ้วตรวจเข้มห้องเย็นเก็บรักษาเนื้อสัตว์ป้องกันการกักตุนเนื้อหมู เบื้องต้น ไม่พบการกระทำผิด ขณะที่ปศุสัตว์เขต 2 วางแนวทางช่วยเหลือฟาร์มเลี้ยงหมูเมืองแปดริ้ว หลังพบจำนวนฟาร์มเลี้ยงหมูในพื้นที่ลดลงจากปีก่อนถึงร้อยละ 27

จากกรณีที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย ประสานการปฏิบัติงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หลังราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นอย่างผิดปกติ และยังมอบหมายให้จังหวัดต่างๆ จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) พร้อมเร่งสำรวจข้อมูลฟาร์มสุกร จำนวนสุกร ผู้เลี้ยงสุกรทั้งรายย่อยและรายใหญ่ที่ได้รับความเสียหายจากการระบาดโรคระบาดในสุกรนั้น

วันนี้ (21 ม.ค.) นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ได้นำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบคลังสินค้าภายในห้องเย็นของ บริษัทโตดี โฟรเซ่น ฟูดส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองระยอง พร้อมตรวจเยี่ยมให้กำลังใจร้านจำหน่ายเนื้อหมูราคาประหยัดช่วยเหลือประชาชนในโครงการ “หมูพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน” ซึ่งมีจุดจำหน่ายเนื้อหมูราคากิโลกรัมละ 150 บาท รวม 12 จุด

ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เผยว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบห้องเย็นดังกล่าวไม่พบความผิดปกติ และผู้ประกอบการได้ดำเนินงานอย่างถูกต้อง ไม่มีการฆ่าสัตว์หรือโรงชำแหละ และได้เก็บสต๊อกเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมูประมาณ 2,500 กิโลกรัม เนื้อวัว 15,000 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือเป็นอาหารทะเลประเภท เนื้อปลา ปู และกุ้ง


ขณะที่ในพื้นที่ จ.ระยอง มีห้องเย็นสำหรับเก็บสต๊อกสินค้ารวม 8 แห่ง และขณะนี้ได้กำชับให้เจ้าของแจ้งรายงานการสต๊อกสินค้าทั้งหมดแล้ว โดยหลังจากนี้จะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและติดตามอย่างเข้มงวดและขณะนี้ยังไม่พบการกักตุนสินค้าแต่อย่างใด


ปศุสัตว์เขต 2 ตรวจฟาร์มสุกรเมืองแปดริ้ว พบยังมีเหลือรอดปลอดภัยถึง 114 ราย

ขณะที่นายวรวิชญ์ วราอัศวปติ ปศุสัตว์เขต 2 ซึ่งกำกับดูแลพื้นที่ 9 จังหวัดในเขตภาคตะวันออก ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมห้องเย็นแช่แข็งเนื้อสุกร และฟาร์มของผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมด้วย พ.ต.อ.ธราเทพ ตูพานิช รอง ผบก.ภ.จว.ฉะเชิงเทรา และผู้แทนจากกระทรวงพาณิชย์ รวมถึงฝ่ายปกครอง โดยไม่พบว่ามีการกักตุนเนื้อหมูแต่อย่างใด

หลังได้เข้าตรวจสอบห้องเย็นของบริษัทหมูกระปุกอินเตอร์ ฟู้ด จำกัด ตั้งอยู่ในเขต อ.เมืองฉะเชิงเทรา ซึ่งบริษัทฯ ได้นำเอกสารประกอบกิจการมาแสดงได้อย่างชัดเจน ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้เก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อสุกรเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการหาเชื้อโรค ASF ด้วยเช่นกัน

นอกจากนั้น ยังเข้าตรวจสอบฟาร์มเลี้ยงสุกรระบบปิดขนาดใหญ่ที่มีการแยกเลี้ยงตามโรงเรือนมาตรฐานขนาด 600 ตัวต่อโรงเรือนในพื้นที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม ซึ่งพบว่ายังคงมีสุกรเลี้ยงอยู่ภายในฟาร์ม จำนวน 12,000 ตัว


นายวรวิชญ์ เผยว่า สำหรับพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดได้ประกาศให้เป็นเขตเฝ้าระวังโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64 หรือกว่า 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีรายงานว่า ฟาร์มสุกรมีสุกรที่ป่วยตายอย่างผิดปกติ และเข้าข่ายสงสัยว่าเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร จำนวน 19 ราย 

จึงได้มีการทำลายเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด และสำนักงานปศุสัตว์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้จ่ายเงินชดเชยการทำลายสัตว์ไปแล้วเป็นเงินจำนวน 27 ล้านบาท

โดยปัจจุบัน จ.ฉะเชิงเทรา มีเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในระบบทั้งสิ้น 114 ราย โดยมีสุกรจำนวน 224,816 ตัว ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 27 ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์ จ.ฉะเชิงเทรา ได้มีแผนฟื้นฟูให้เกษตรกรที่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่อีกครั้งด้วยการสนับสนุนทางด้านวิชาการ 

หรือหากเลือกเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอื่นตามความต้องการของตลาด จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเต็มที่


ขณะที่ นายไมตรี ไตรติลานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมด้วยพาณิชย์จังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดสดบ่อบัว ตั้งอยู่ริมถนนชุมพล ต.หน้าเมือง เพื่อตรวจสอบราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ และสุกร ก่อนถึงเทศกาลตรุษจีน

พบว่าร้านค้าส่วนใหญ่ได้มีการติดป้ายแสดงราคาสินค้าทั้งราคาผัก ผลไม้ เนื้อไก่ เนื้อสุกร และหัวหมู ส่วนราคาสินค้าที่มีการวางจำหน่ายค่อนข้างสูงเป็นไปตามกลไกของตลาด โดยระหว่างการเดินตรวจสอบราคาสินค้า ยังได้นำฟ้าทะลายโจรชนิดแคปซูล พร้อมด้วยเจลล้างมือ และหน้ากากอนามัยเดินแจกจ่ายบรรดาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น