xs
xsm
sm
md
lg

ปัญหาโรคระบาด ลูกหลานไม่สานต่อธุรกิจ ทำฉะเชิงเทราแหล่งผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่เป็นได้แค่อดีต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - น่าเศร้า!ปัญหาโรคระบาด ลูกหลานไม่สานต่อธุรกิจ ทำ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ของประเทศ  ปัจจุบันกลับเหลือผู้เลี้ยงไม่ถึง 10 ฟาร์ม ชี้คืออีกหนึ่งสาเหตุใหญ่ทำสุกรหายจากระบบ

 ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายสมจิตร์ วัฒนกิจวิชัย อายุ 73 ปี เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยขนาดฟาร์ม 1,000 ตัวใน อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ว่าปัญหาโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา หรือ ASF ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 ทำให้สุกรเกษตรเลี้ยงไว้ต้องล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งก่อนหน้าเกษตรกรใน จ.ฉะเชิงเทรา ที่แจ้งไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดให้เข้าทำลายซากสุกร จะได้ค่าฝังกลบและได้รับเงินชดเชยราคาตัวละ 9 พันบาท

ขณะที่สุกรที่ตนเองเลี้ยงไว้ประมาณ  800 ตัว ทั้งสุกรขุน และแม่พันธุ์ได้ติดเชื้อตายจนหมดแต่ไม่ได้แจ้งเพื่อขอรับเงินค่าชดเชยจากหน่วยงานรัฐ เนื่องจากไม่คิดว่าจะได้รับการเยียวยา ทำให้ในวันนี้จึงจำเป็นต้องหยุดเลี้ยงและพักฟาร์มมานานเกือบ 1 ปีเต็ม เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในพื้นที่อีกกว่า 40 ราย 

นายสมจิตร์ ยังบอกอีกว่า ขณะนี้ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา เหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรไม่ถึง 10 ราย ทั้งที่เมื่อ 20 ปีก่อนเคยเป็นแหล่งผลิตเนื้อสุกรรายใหญ่ที่สุดของประเทศ และยังมีผู้เลี้ยงสุกรรายใหญ่ที่มีจำนวนสุกรตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนตัวเป็นจำนวนมาก

เช่นเดียวกับฟาร์มขนาดกลางที่เลี้ยงสุกรตั้งแต่ 5 พันตัวขึ้นไปจนถึง 1 หมื่นตัวไม่ต่ำกว่า 5 พันราย และผู้เลี้ยงสุกรขนาด 5 พันตัวลงมากว่า 300 ราย


โดยปัญหาโรคระบาดในสุกรมักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับคนรุ่นใหม่ที่ไม่นิยมประกอบอาชีพเลี้ยงสุกร จึงทำให้เกษตรกรหลายรายต้องเลิกกิจการไป

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลสามารถจัดหาวัคซีนหรือยารักษาโรคเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดได้ เชื่อว่าเกษตรกรที่พักฟาร์มไปจะหันกลับมาเลี้ยงสุกรอีกครั้ง เนื่องจากยังคงมีโรงเรือน เล้าสุกร และอุปกรณ์ในการเลี้ยงเดิมอยู่แล้ว








กำลังโหลดความคิดเห็น