xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมไก่ติงรัฐควบคุมราคาเนื้อไก่ไม่ใช่แนวทางแก้ปัญหาของแพง จี้ดูต้นทุนผลิตที่แท้จริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา -
นายกสมาคมไก่ ติงรัฐประกาศควบคุมราคาเนื้อไก่ช่วงหมูแพง ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ตรงจุด จี้ ก.พาณิชย์-เกษตรฯ ดูข้อมูลต้นทุนผลิตที่แท้จริง ชี้บี้ผู้ประกอบการมากสุดท้ายอาจไม่เหลือผู้ผลิต ยันตรุษจีนนี้มีไก่เพียงพอผู้บริโภคไม่ต้องกังวลเชื้อไข้หวัดนก

จากกรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีมติยกระดับการควบคุมราคาสินค้าเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะราคาเนื้อไก่ เพื่อป้องกันผู้ประกอบการฉวยโอกาสขึ้นราคาช่วงราคาเนื้อหมูแพงและขาดตลาดนั้น

วันนี้ (21 ม.ค.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ไทยรายใหญ่ 1 ใน 5 ของไทย ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกับมาตรการดังกล่าวว่า เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดและไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเรื่องราคาอาหารสัตว์และวัตถุดิบต่างๆ ทั้งข้าวโพด กากถั่ว รวมทั้งน้ำมันในการผลิตอาหารสัตว์ที่ขยับราคาสูงขึ้นถึง 50% แล้ว 

เช่นเดียวกับเสียงสะท้อนที่สมาคมฯ เสนอให้รัฐลดภาษีวัตถุดิบอาหารสัตว์นำเข้าเพื่อลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะข้าวโพดซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญกลับไม่ได้รับการใส่ใจ

“ขณะนี้มีเกษตรกรและผู้ประกอบการโทรศัพท์มาสอบถามในเรื่องนี้กันมาก ซึ่งจริงๆ แล้วหากกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรเข้ามาดูข้อเท็จจริงเรื่องต้นทุนการผลิตจะทำให้รู้ว่าวันนี้ประเทศไทยสินค้าแพงทุกชนิด ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการจะฉวยโอกาสขึ้นราคากันเอง แต่เป็นเพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่เจอเรื่องโควิด-19 ทำให้ต้นทุนการดำเนินงานของบางบริษัทขาดทุนถึงหลักพันล้านแล้ว”


พร้อมยังบอกอีกว่า การแก้ไขปัญหาราคาเนื้อหมู ไก่แพง รัฐต้องหาสาเหตุให้เจอ เช่น ไก่ราคาสูงเพราะต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นถึง 50% ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา ยังเจอปัญหาเรื่องกำลังซื้อในประเทศที่มีน้อย แต่ยังโชคดีที่ยังสามารถส่งออกได้ แต่กลับต้องเจออุปสรรคเรื่องตู้คอนเทนเนอร์ไม่มี สายการเดินเรือจนทำให้สินค้าส่งออกไม่ตรงเวลา และผู้ประกอบการยังต้องแบกภาระเรื่องการฝากเนื้อสัตว์ไว้ที่ห้องเย็น

ไม่นับรวมปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่หนีกลับบ้านช่วงการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 ขณะที่แบงก์พาณิชย์เข้มงวดเรื่องการปล่อยสินเชื่อจนภาคการผลิตเดินไม่ได้ และยังต้องเจอกับมาตรการของรัฐที่กำหนดให้ผู้ผลิตขายสินค้าแบบขาดทุน

“อย่าลืมว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นกลุ่มนักศึกษาที่จบใหม่ต้องหางานทำ เด็กที่ยังเรียนอยู่ต้องออกมาฝึกงาน ซึ่งกลุ่มฉวีวรรณ แต่ละปีรับนักศึกษาเหล่านี้เข้าทำงานในโรงงานแปรรูป โรงเชือดที่ต้องใช้นักศึกษาทั้งสายวิศวกรรม และสายบัญชี รวมทั้งสายงานที่เกี่ยวเนื่องและงานวิจัยมากถึง 200 คน แต่หากสุดท้ายเราเดินธุรกิจไม่ได้แล้วเด็กๆ ฝึกงานจะมีแหล่งเรียนรู้จากที่ไหน”

ดร.ฉวีวรรณ ยังเผยอีกว่า ในปี 2565 นี้ประเทศไทยจะยังต้องเจอปัญหาทางเศรษฐกิจที่หนักหน่วง หากรัฐไม่สามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ เชื่อว่าจะเกิดปัญหาแน่เพราะเม็ดเงินในประเทศไม่มีแล้วเช่นเดียวกับทั่วโลก โดยเฉพาะราคาน้ำมันแพงที่เป็นปัจจัยสำคัญในทุกภาคการผลิต


ยันตรุษจีนนี้เนื้อไก่เพียงพอ ขอประชาชนมั่นใจไร้เชื้อไข้หวัดนก

และจากกรณีที่องค์การสุขภาพสัตว์โลกหรือ OIE ได้มีจดหมายแจ้งเตือนประเทศสมาชิกให้ยกระดับการเฝ้าระวังโรคระบาดในสัตว์ช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับบ้านเพื่อเฉลิมฉลองเป็นจำนวนมากอีกทั้งหลายประเทศยังต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนอย่างหนักนั้น

ดร.ฉวีวรรณ ยืนยันว่า หลังจากที่ไทยเคยเกิดปัญหาการแพร่ระบาดใหญ่ของเชื้อไข้หวัดนกเมื่อ 10 กว่าปีก่อนจนทำให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ทำให้ผู้ประกอบการ เกษตรกรผู้เลี้ยง รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ได้ให้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดขึ้นอีกครั้ง ด้วยการดำเนินมาตรการการดูทั้งเรื่องการตรวจสอบหาเชื้อไวรัสทุกชนิด 

รวมทั้งยังมีการพัฒนาด้านสุขอนามัยและระบบการเลี้ยงแบบไบโอซิเคียวริตี และระบบการผลิตแบบฟูดเซฟตี้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ปัจจุบันฟาร์มเลี้ยงของไทยยังเป็นคอมพาร์ตเมนต์ที่มีการจัดการความปลอดภัยทางชีวภาพตามหลักการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมสำหรับโรคไข้หวัดนก โดยเฉพาะไก่ที่จะเข้าสู่โรงเชือด ที่จะต้องมีการสวอบหาเชื้อก่อนเข้าโรงาน และเมื่อเข้าโรงงานแล้วจะมีการสวอบหาเชื้ออีกครั้ง จึงผลิตเนื้อไก่ออกสู่ผู้บริโภค


และอีกปัจจัยสำคัญคือประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนจึงเป็นข้อได้เปรียบ เพราะเชื้อหวัดนกจะแพร่ระบาดได้ดีในสภาพอากาศที่หนาวเย็น

“ประชาชนสามารถมั่นใจได้ว่าในช่วงตรุษจีนนี้จะมีเนื้อไก่บริโภคและประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษอย่างเพียงพอ เพราะการผลิตเพื่อการส่งออกและบริโภคในประเทศปัจจุบันมีมากถึง 36 ล้านตัวต่อวัน ซึ่งปัญหาการระบาดของไข้หวัดนกไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่สิ่งที่ต้องระวังคือต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่ขณะนี้ราคาวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์พุ่งขึ้นสูงถึง 50% แล้ว” ดร.ฉวีวรรณ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น