ปัญหาวิกฤตหมูราคาแพงเกิดจากหลายสาเหตุ แต่ปัจจัยที่สำคัญในขณะนี้คือโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือเชื้อไวรัส "ASF" ไวรัสชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคระบาดใน “หมู” ซึ่งกำลังเป็นประเด็นที่คนในสังคมตื่นตัว องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกจึงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐเร่งกำหนดแนวทางการจัดการที่ชัดเจน ให้ความสำคัญต่อสวัสดิภาพสัตว์ในการจัดการโรคระบาด รวมถึงการกำจัดหมูที่ตายหรือติดโรคในฟาร์มจำนวนมหาศาล
นายโชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “จากข้อมูลเมื่อปี พ.ศ. 2562 มีการประเมินว่ามีหมูถึง 1 ใน 4 ทั่วโลกจะตายจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร เมื่อระบาดจะกำจัดโรคได้ยาก เพราะในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนในการป้องกัน หมูที่ติดเชื้อมีการตายเฉียบพลันเกือบทั้งหมด ตอนนี้ในประเทศไทย เราได้เห็นจากภาพข่าวมีซากหมูที่ถูกพบในลำน้ำสาธารณะ บริเวณพื้นที่รอบๆ ฟาร์มหมู ฯลฯ ที่ปรากฏในสื่อหลายสำนักข่าวตลอดช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามถึงวิธีการจัดการที่เหมาะสม มีมนุษยธรรมที่สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลเพื่อลดความเสี่ยงในการระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อจัดการทำให้สัตว์ที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม เพราะหมูคือสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกกลัว เจ็บปวดและทรมาน ไม่ต่างจากคน และในฐานะที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกขององค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เราจึงอยากเน้นย้ำให้ภาครัฐของไทยให้ความสำคัญต่อแนวทางการจัดการอย่างมีมนุษยธรรมและสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากล (Humane Culling) ตามข้อแนะนำขององค์การสุขภาพสัตว์โลก เพื่อให้การควบคุมการระบาดของโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดความเจ็บปวดทรมานของสัตว์”
องค์กรฯ ได้พบกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่เราได้รับรายงานพบว่ามีการฝัง เผาหรือทำให้จมน้ำในขณะที่สัตว์ยังมีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และขัดต่อหลักการสวัสดิภาพสัตว์อย่างรุนแรง เราไม่อยากเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะแม้ขณะมีชีวิตอยู่หมูเป็นสัตว์ที่ต้องทนทุกข์ทรมานตลอดชีวิตจากการถูกเลี้ยงดูอย่างแออัด ปัจจุบันมีจำนวนหมูประมาณร้อยละ 60 ของโลกถูกเลี้ยงอยู่ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีแม่หมูถึงร้อยละ 75 ที่ต้องมีชีวิตในกรงขังตลอดชีวิตเพียงเพื่อผสมพันธุ์ และใช้ชีวิตในกรงเหล็กขนาดไม่ใหญ่ไปกว่าตู้เย็นซึ่งไม่สามารถหันหลังกลับได้ นอกจากนี้ ลูกหมูที่เกิดใหม่จะถูกพรากจากแม่หมูโดยเร็ว โดยลูกหมูส่วนหนึ่งจะถูกนำไปสู่การตัดตอนอวัยวะ การตัดหาง การกรอฟัน หรือการตอนสด การเลี้ยงหมูโดยไม่ใส่ใจสวัสดิภาพสัตว์นี้เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้หมูเกิดความเครียดและอ่อนแอง่าย ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดโรคต่างๆ รวมถึงโรค ASF และยังเป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการใช้ยาปฏิชีวนะจำนวนมหาศาลและเกินความจำเป็นในฟาร์ม ซึ่งนำไปสู่การเกิดเชื้อซูเปอร์บั๊กส์ (Superbugs) หรือแบคทีเรียที่มีฤทธิ์ต่อต้านยาปฏิชีวนะขึ้น เชื้อซูเปอร์บั๊กส์นี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
นางสาวโรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย เสริมว่า “ทุกวันนี้นอกจากปัญหาหมูแพงแล้วประชาชนต่างหวาดกลัวกับวิกฤตโรค ASF ทำให้แทบจะไม่กล้าบริโภคหมู หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสื่อสารและต้องเปิดเผยรายงานและข้อมูลการระบาดอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ และต้องเร่งทบทวนนโยบายและมาตรการที่มีอยู่ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค รวมถึงการกำจัดซากสุกรให้สอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบและภาคประชาสังคมเข้ามีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมและมีนัยสำคัญ”
ที่ผ่านมาองค์กรฯ ได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องผ่านสื่อที่หลากหลาย เพื่อให้ความรู้และส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงหมูโดยใส่ใจในสวัสดิภาพสัตว์ผ่านแคมเปญต่างๆ อาทิ โครงการเลี้ยงหมูด้วยใจ อีกทั้งองค์กรฯ ได้ทำงานร่วมกับอาสาสมัครในการเข้าพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและชุมชนโดยรอบ ทำให้เข้าใจถึงปัญหาและความกังวลของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู องค์กรฯ พร้อมที่จะนำเสนอข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนการดำเนินงานเพื่อเร่งพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ พร้อมส่งเสริมคุณภาพชีวิตเกษตกรรวมทั้งสุขภาพของผู้บริโภคโดยรวม
“จากวิกฤตโรค ASF ในครั้งนี้ ควรจะต้องเป็นการจุดชนวนให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูประบบอาหารที่เป็นอยู่อย่างจริงจังและเร่งด่วน โดยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของแหล่งที่มาของโปรตีน รวมทั้งยกระดับสวัสดิภาพของสัตว์เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ระบบการผลิตอาหารของเรามีความยั่งยืนและปลอดภัย ทั้งต่อผู้บริโภค ต่อสัตว์ และต่อสิ่งแวดล้อม” นายโชคดีกล่าวปิดท้าย