โดย ศิระ มุ่งมะโน
ช่วงนี้เห็นใจเกษตรกรไทยหนักมาก โดยเฉพาะเกษตรกรภาคปศุสัตว์สถานะของพวกเขาตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ผีซ้ำด้ำพลอย” ทั้งผู้เลี้ยงหมู ผู้เลี้ยงไก่ ผู้เลี้ยงไก่ไข่ เพราะนอกจากต้องเผชิญโรคระบาด (หมู) และปัจจัยการผลิตและป้องกันโรคพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 30-40% ตั้งแต่ปี 2564 แล้ว เปิดศักราชปี 2565 รัฐบาลประกาศตรึงราคาสินค้าดังกล่าวจนถึงควบคุมราคาจำหน่ายหน้าฟาร์ม เป็นของขวัญชิ้นใหญ่เพื่อคนไทยทุกคน (ยกเว้นเกษตรกร)
แม้เป้าหมายของรัฐบาล คือ การแก้ปัญหาหมูแพง ทั้งๆ ที่ขาดแคลนทั่วประเทศสาเหตุจากโรคระบาดหลายสายพันธุ์ ผู้เลี้ยงสุกรพร้อมใจกันตรึงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มอยู่ที่ 110 บาทต่อกิโลกรัม สนับสนุนนโยบายรัฐให้ราคาเนื้อหมูในประเทศนิ่งไม่เพิ่มขึ้นไปอีก ทั้งที่ต้นทุนจริงของเกษตรกร 120 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ผู้เลี้ยงประกาศปรับราคาไข่ไก่คละฟองละ 20 สตางค์ หรือ 6 บาทต่อแผง (30 ฟอง) เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2564 ในวันเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมสมาคมและผู้เกี่ยวข้องในธุรกิจการเลี้ยงไก่เนื้อหารือในการตรึงราคาเนื้อไก่ เพื่อลดภาระค่าครองชีพคนไทย แล้วเกษตรกรไทยไม่ใช่คนไทย?
ผู้เลี้ยงไก่ไข่ดีใจวันเดียว หลังกระทรวงพาณิชย์เรียกประชุมขอความร่วมมือตรึงราคาหน้าฟาร์มที่ฟองละ 2.80 บาท ในวันที่ 11 มกราคม 2565 พร้อมๆ กับประกาศตรึงราคาจำหน่ายไก่มีชีวิตอยู่ที่ 33.50 บาท/กก. เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ปีที่ผ่านมา ราคาอยู่ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับต้นทุนการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 37 บาท/กก. ส่วนไก่สด (รวม/ไม่รวมเครื่องใน) 60-65 บาท/กก. น่องติดสะโพก/น่อง/สะโพก 60-65 บาท/กก. เนื้ออก 65-70 บาท/กก. โดยให้เหตุผลว่า ทั้งไก่เนื้อและไข่ไก่ ไม่ได้ขาดตลาด ผลผลิตยังสูงเพียงพอต่อการบริโภคและการค้าปกติ ตอนนี้มีเพียงเนื้อหมูที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยจากปกติกว่า 30% (ทั้งที่ตัวเลขเกษตรกรยืนยันว่าหายไป 50%) แต่ความต้องการยังสูงจึงทำให้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้น ขอตั้งข้อสังเกตุตัวเลขต้นทุนกระทรวงต่ำตลอด อยากทราบแหล่งที่มาเนื่องจากตัวเลขต่างจากเกษตรกร
ขอทวงสิทธิและความยุติธรรมให้กับเกษตรกรไทย ที่โดนตรึงและคุมราคาสินค้าเกษตรทั้งที่ต้นสูงและขาดทุนสะสมจำนวนมาก ขณะที่ราคาขายต่ำ ผลผลิตมีความเสี่ยงสูงจากปัจจัยการผลิตที่ควบคุมยาก เช่น ดินฟ้าอากาศ โรคระบาด เป็นต้น เมื่อเทียบกับสินค้าอุตสาหกรรมอื่นๆ การปรับราคาหรือคุมราคาแม้ไม่ได้รับอนุญาต ก็สามารถบริหารจัดการด้วยการลดขนาดและปริมาณสินค้าในราคาเท่าเดิม เวลาปรับขึ้นราคาไม่ต้องมาประกาศให้สังคมรับรู้ ขึ้นกันหน้าชั้นวางสินค้าเลย ผู้บริโภคซื้อด้วยความเคยชินและโฆษณาชวนเชื่อ ระยะเวลาหมดอายุยาวไป คนซื้อกว่าจะรู้ตัวก็ถึงบ้านแล้ว ขี้เกียจเอาไปคืนจำยอมใช้ แต่สินค้าเกษตรทำไม่ได้เพราะว่ากันที่ความสดใหม่ ระยะเวลาการเก็บรักษาสั้นกว่าเยอะ เห็นชัดว่าต้นทุนต่างกัน
ช่วงปีที่ผ่านมา ขอเปรียบเทียบให้เห็นภาพระหว่างเกษตรกร กับผู้ผลิตสินค้าอุตสาหกรรม โดยพิจารณาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น เกษตรกรมีภาระต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงขึ้น 30-40% และปัจจัยการผลิตเพื่อป้องกันโรค 30% ขณะที่ราคาปิโตรเลียมจะปรับสูงขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ จากความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว โดยคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 71-76 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ย 68-73 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เพิ่มประมาณ 4.41% แต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย คาดว่า ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคจะมีการขอปรับราคา 10-20% ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า แม้ไม่ได้รับอนุญาตให้ปรับราคาแต่ผู้ผลิตมีกลยุทธ์ที่จะรักษากำไรไว้ได้
รัฐมีอาญาสิทธิ์อยู่ในมือ จำเป็นต้องตรองด้วยความยุติธรรม และตรวจสอบด้วยความเที่ยงธรรมจากต้นทุนและปัจจัยการผลิตรอบด้าน ไม่ควรพิจารณาจากเหตุผลเพียงด้านเดียว และควรให้แต้มต่อกับผู้ผลิตที่อ่อนแอกว่า เพื่อยกระดับพวกเขาให้เติบโตขึ้นมาฐานการผลิตอาหารมั่นคงของไทยอย่างยั่งยืน