เชียงใหม่ - รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ตรวจเยี่ยมจุดจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูก ตามโครงการหมูพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน พร้อมสำรวจราคาสินค้าในตลาดสด พบส่วนใหญ่ยังคงมีราคาเสถียร พร้อมเผยเตรียมจัด “ตลาดนัดชุมชน” ในทุกอำเภอ และจัดโปรโมชันพิเศษไข่ไก่ลดราคา เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชน
วันนี้ (15 ม.ค. 65) นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมจุดจำหน่ายเนื้อหมูชำแหละ ที่เข้าร่วมโครงการ “หมูพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน” ที่ร้าน SK สาขาหางดง ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ พร้อมพบปะพ่อค้าแม่ค้า และสำรวจราคาสินค้าในตลาดสด ซึ่งพบว่าราคาเนื้อสัตว์โปรตีนอื่นๆ ที่สามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อหมูได้ยังคงมีราคาที่เสถียร แต่อาจมีลดและเพิ่มราคาบ้างเล็กน้อย นอกจากนี้ ได้มีการตรวจสอบมาตรฐานการกำหนดราคา โดยกำชับพ่อค้า-แม่ค้าให้มีป้ายแสดงราคาสินค้าที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบราคาก่อนตัดสินใจซื้อ
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงใหม่จะกำหนดจัด “ตลาดนัดชุมชน” ขึ้นในทุกอำเภอ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้นำสินค้าพื้นบ้านมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค โดยในวันที่ 17-19 ม.ค. 65 จังหวัดเชียงใหม่จะมีการจัด “ตลาดนัดชุมชน” ที่บริเวณตลาดประชารัฐ ศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำสินค้าอุปโภค บริโภค รวมถึงเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ มาจัดจำหน่ายในราคายุติธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และลดผลกระทบจากสินค้าราคาแพงให้น้อยที่สุด โดยในส่วนของราคาไข่ไก่ ขณะนี้ได้ควบคุมราคาไข่คละอยู่ที่ฟองละ 2.90 บาท และจะได้มีการจัดโปรโมชันพิเศษไข่ไก่ลดราคาใน 1-2 วันนี้
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อหมูที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลและจังหวัดเชียงใหม่ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้มีการหารือกับภาคส่วนต่างๆ พร้อมทั้งจัดโครงการ “หมูพาณิชย์ลดราคาช่วยประชาชน” ซึ่งจำหน่ายหมูเนื้อแดงในราคากิโลกรัมละ 150 บาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่าย เบื้องต้นมีจุดจำหน่าย 10 จุด ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอหางดง อำเภอสันทราย และอำเภอสันกำแพง โดยจะจัดจำหน่ายไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค. 65
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ทาง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำลังเร่งหารือกับอธิบดีกรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร หลังการประกาศพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ในประเทศไทย พร้อมทั้งให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรเจ้าของฟาร์มผู้เสียหายให้ครอบคลุม เปิดช่องทางแจ้งการเกิดโรคให้ได้โดยเร็ว และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการความต้องการสุกรในภาพรวม ทั้งยังให้ศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว และจัดหาพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ โดยให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการเพื่อลดความเดือดร้อน ประกอบกับการตั้งวอร์รูมสื่อสารชี้แจงการทำงานแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย