xs
xsm
sm
md
lg

ดึง “คนเลี้ยงหมู” กลับสู่อาชีพ เพื่อลูกหลานไทยในอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เรื่องโดย สามารถ สิริรัมย์

สถานการณ์ราคาหมูส่งผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า ทั้งคนเลี้ยง พ่อค้าคนกลาง เขียงหมู ร้านอาหารตามสั่ง หรือแม้แต่ผู้บริโภค แต่ในบรรดาผู้เดือดร้อนจากสถานการณ์ราคาหมู ต้องบอกว่าคนที่น่าเห็นใจที่สุดคือ “เกษตรกรคนเลี้ยงหมู” ที่ต้องสูญเสียหมูทั้งเล้าเพราะมันคือการเจ๊ง การเป็นหนี้ และที่ชอกช้ำไปกว่านั้น มันคือความล่มสลายของมรดกอาชีพที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ หรือบางคนตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าด้วยซ้ำ

หลายครอบครัวไม่รู้จะไปประกอบอาชีพอะไรหลังจากนี้ บางครอบครัวลูกยังเล็ก เรียนยังไม่จบ บางบ้านก็มีคนชรา คนป่วย ที่ต้องดูแลรักษา การขาดอาชีพ ย่อมขาดรายได้ และจะเอาเงินทองที่ไหนไปจุนเจือทุกคนในบ้าน คิดแล้วน่าสงสารมาก ในขณะที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ สามารถกินอะไรทดแทนก็ได้รอจนกว่าหมูราคาลงค่อยกลับไปกินหมูใหม่อีกครั้ง ไม่ถึงกับเดือดร้อนสาหัสสากรรจ์เหมือนเกษตรกร

แต่วันนี้ที่บางคนเสนอแนวคิดการแก้ปัญหาด้วยการ “นำเข้าหมู” ซึ่งมีราคาถูกกว่าหมูไทยเพราะต้นทุนการผลิตถูกกว่า ยิ่งสะเทือนใจว่าคิดจะทำหมันเกษตรกรไทยไม่ให้ผุดไม่ให้เกิดเลยหรืออย่างไร โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายค้านที่เอาชีวิตของเกษตรกรไปเป็น เกมการเมือง โดยเลือกเสนออะไรออกมาเพียงเพื่อเอาชนะหรือหวังล้มรัฐบาลอย่างเดียว


อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ต้องขอชื่นชมแนวคิดของ นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย ที่แสดงความเห็นสวนทางกับนักการเมือง ขณะที่เข้าร่วมรายการของสื่อช่องหนึ่ง โดยกล่าวว่า “เรื่องหมูเป็นเรื่องเฉพาะหน้า แต่ราคาสินค้าตัวอื่นส่งสัญญาณขยับมาตั้งแต่เดือนตุลาคมแล้ว ถ้ายังคิดแบบเดิมแก้ปัญหาแบบเดิม ปัญหาก็ไปชั่วลูกชั่วหลาน

ระบบเกษตรบ้านเราปลูกมากขายถูก ถ้าหมูแพงแล้วมีความคิดว่าเอาหมูนอกเข้ามาเพื่อให้ราคาถูกลงยิ่งวิบัติใหญ่ คนเลี้ยงหมูยิ่งเจ๊งระเนระนาด”

ถ้าจะทำให้ประเทศวิบัติสั่นคลอนชีวิตของลูกหลานเราในอนาคตด้วยการนำเข้าหมู สู้เราหันกลับมาหาทางแก้ปัญหาด้วยการคืนอาชีพเกษตรกรคนเลี้ยงหมูให้พวกเขาได้อยู่คู่สังคมไทยไปชั่วลูกชั่วหลานไม่ดีกว่าหรือ?


มาตรการที่รัฐบาลเสนอออกมาดูเหมือนจะเป็นทิศทางที่ถูกต้องอยู่แล้วทั้งการขยายกำลังการผลิตแม่หมู และส่งเสริมการผลิตข้าวโพดในประเทศทดแทนการนำเข้า ควบคู่กับมาตรการที่เร่งยกระดับมาตรฐานฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) การวางระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity)

รวมถึงการเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีน ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญของการป้องกันโรคระบาด ขอเพียงอย่าแทรกแซงมาตรการด้วยการนำเข้าหมูซึ่งจะทำให้ทุกอย่างจบเห่ไปในพริบตา




อย่างไรก็ตาม สิ่งเร่งด่วนที่รัฐควรรีบดำเนินการคือการเร่งจ่ายเงินชดเชย ให้เขาได้มีกินมีใช้ในช่วงต้นก่อน จากนั้นสำรวจพื้นที่ใดที่ปลอดภัยจากเชื้อและสามารถลงหมูเข้าเลี้ยงได้ ก็ต้องเร่งจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือไม่มีดอกเบี้ยให้เกษตรกรในช่วงฟื้นฟูอาชีพ ควรมีเจ้าหน้าที่ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ในการป้องกันโรคอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกษตรกรกล้าที่จะลงหมูเข้าเลี้ยงอย่างมั่นใจ

ที่สำคัญ รัฐต้องพร้อมจัดการห่วงโซ่อุปทาน โดยปล่อยให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นไปตามกลไกเสรี และปล่อยราคาขายหมูตามกลไกตลาด ไม่ใช่คุมราคาขายแต่ไม่คุมราคาต้นทุน อย่างที่ผ่านมา

เมื่อนั้นล่ะ! อาชีพเกษตรกรคนเลี้ยงหมู อาชีพเดียวของหลายๆ ครอบครัว ก็จะกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ลูกหลานคนไทย และประเทศของเราได้อีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น