โดย วลัญช์ ศรัทธา
ประเด็นการแก้ปัญหาราคาหมูที่กำลังเป็นที่สนใจของผู้คน ภาครัฐควรต้องพิจารณามาตรการต่างๆ อย่างรอบคอบ ไม่ใช่แก้จุดหนึ่ง เพื่อให้ปัญหาไปเกิดในอีกจุดหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วย “การนำเข้าหมู” นั้น ต้องเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่เอาง่ายไว้ก่อน และจะนำมาซึ่งปัญหาระยะยาวให้ประเทศไทยไม่รู้จบ โดยผู้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด คือ เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทย ตามมาด้วยห่วงโซ่การผลิตทั้งหมด สุดท้ายจะเป็นบูมเมอแรงไปถึงผู้บริโภคคนไทย และทำลายจุดแข็งของประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นครัวของโลกไปในที่สุด
ประการแรก : หากรัฐตัดสินใจนำเข้าเนื้อหมู จะสวนทางมาตรการของรัฐที่มุ่งสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงหมู เพราะเกษตรกรทุกคนทราบดีว่า ไม่มีทางที่ต้นทุนการผลิตหมูของไทยจะต่ำกว่าต้นทุนการผลิตของประเทศในแถบตะวันตก
เหตุผลที่ต้นทุนการผลิตหมูของเขาต่ำกว่าไทยมากๆ ก็เป็นเพราะมีการเลี้ยงหมูแบบอุตสาหกรรมมาตรฐาน เป็นฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพการเลี้ยงสูง ไม่ใช่ฟาร์มหมูขนาดเล็กที่มีมากมายแบบในบ้านเรา ขณะเดียวกัน ประเทศตะวันตกยังมีพื้นที่ปลูกพืชวัตถุดิบอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ เป็น Mega Farm มีเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยว การลดความชื้น ฯลฯ ที่ดี ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของเขาทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จึงถูกกว่าบ้านเรา ยังไม่นับรวมมาตรการอุดหนุนเกษตรกรที่ประเทศตะวันตกมีให้คนในภาคเกษตร ด้วยรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้วมักมองว่า “เกษตรกร” เป็นสมบัติอันมีค่าของประเทศที่ต้องรักษา สิ่งเหล่านี้ทำให้ต้นทุนการผลิตเนื้อสัตว์ของต่างประเทศต่ำกว่าไทย และคุณภาพชีวิตเกษตรกรประเทศเขาดีกว่าของเรามาก
ประการที่สอง : การปฏิบัติต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยเป็นไปในทิศทางตรงข้าม ยามที่เขาขาดทุนสะสม 3 ปี ไม่เคยมีการเหลียวแลช่วยเหลือ วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ต้องนำเข้ามีราคาสูงจากการขนส่งแล้ว รัฐยังเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมส่งให้ต้นทุนการผลิตหมูสูงขึ้นไปอีก รัฐพิจารณาปัญหาปากท้องของผู้บริโภคเป็นหลัก และละเลยปากท้องของเกษตรกรมาตลอด เมื่อใดที่ราคาหมูแพง เกษตรกรต้องถูกกดราคาขายให้อยู่ในราคาควบคุมเสมอ ครั้งนี้ด้วยปัญหาโรคระบาด ราคาจึงพุ่งขึ้นจากปริมาณหมูที่หายไปจำนวนมาก แต่หากรัฐคิดจะแก้ปัญหาด้วยการนำเข้า เท่ากับซ้ำเติมเกษตรกรคนเลี้ยงหมูที่เป็นผู้ผลิตอาหารของชาติอีกครั้ง นับเป็นความผิดพลาดในการแก้ปัญหาโรคระบาดอย่างที่สุด
ประการที่สาม : เนื้อหมูนำเข้ามีความเสี่ยงที่จะนำโรคจากต่างประเทศเข้ามาด้วย เนื่องจากในแต่ละประเทศต่างมีโรคประจำถิ่นของตนเอง การปล่อยให้ชิ้นส่วนหมูเข้ามาจึงมีความเสี่ยงในการนำเข้าโรคต่างถิ่นที่จะก่ออันตรายต่อหมูไทย และยิ่งจะซ้ำเติมสถานการณ์ที่เป็นอยู่ให้รุนแรงขึ้น ขณะที่หมูนำเข้าจะเข้ามาในรูปแบบเนื้อหมูแช่แข็ง ซึ่งเชื้อไวรัสหลายตัวมีความทนทานมาก อยู่ได้เป็นปีที่อุณหภูมิแช่แข็ง หากหลุดเข้ามาปนเปื้อนในสภาพแวดล้อมของไทย ย่อมส่งผลกระทบหนักต่อเกษตรกรและอุตสาหกรรมอาหาร
ประการที่สี่ : เมื่อไม่มีเกษตรกรคนไหนกล้าที่จะลงหมูเข้าเลี้ยงอีก ย่อมเท่ากับทำลายผู้ผลิตอาหาร ทำลายความมั่นคงทางอาหารของประเทศ คนไทยต้องพึ่งพาหมูต่างชาติตลอดเวลา ไม่สามารถเลี้ยงหมูกินเองได้เหมือนในอดีต เมื่อนั้นหายนะจะส่งตรงถึงทุกครัวเรือน ผลกระทบจะเกิดเป็นโดมิโนไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์ร่วม 7 ล้านครัวเรือน ภาคเวชภัณฑ์ ผู้ผลิตอุปกรณ์การเลี้ยง ระบบขนส่ง จนถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ตลอดห่วงโซ่ ที่ต้องล่มสลายไปพร้อมกัน เป็นการบั่นทอนความมั่นคงทางอาหารของประเทศเต็มรูปแบบ
สถานการณ์โรคระบาดที่เกิดขึ้นทำลายคนเลี้ยงหมูไปแล้วกว่า 50% มาตรการของรัฐที่ออกมาก่อนหน้านี้มีทิศทางที่ดีที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูกลับมาประกอบอาชีพเดิม เป็นผู้ผลิตอาหารป้อนคนไทยได้อีกครั้ง ขอแค่อย่าปล่อยให้ “การนำเข้าหมู” มาทำลายมาตรการดังกล่าว เพราะเท่ากับเป็นการฆ่าตัดตอนเกษตรกรทั้งหมดและส่งผลร้ายต่อทุกภาคส่วนจริงๆ