บุรีรัมย์ - “ลูกชิ้นยืนกิน” บุรีรัมย์ หนึ่งเดียวในโลก เจอพิษหมูแพงกระหน่ำต้องแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่คุณภาพ ปริมาณ และราคาเท่าเดิม แม่ค้ายันยังไม่ปรับขึ้นราคา อยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลแก้ปัญหาสินค้าราคาแพง ช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ที่ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด
วันนี้ (5 ม.ค.) จากกรณีราคาหมูแพงขึ้น จากเดิมกิโลกรัมละ 140-150 บาท ปัจจุบันราคาพุ่งขึ้นไปเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท บางจังหวัดพุ่งสูงถึง 250 บาท ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบในการทำอาหาร และลูกชิ้นหมูขาย ล่าสุดพ่อค้าแม่ค้าขาย “ลูกชิ้นยืนกิน” ทั้งที่บริเวณด้านหลังสถานีรถไฟ และตามจุดต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ที่มีเอกลักษณ์การกินที่ไม่เหมือนใคร และมีเพียงจังหวัดเดียวในประเทศไทยหรือแห่งเดียวในโลก โดยลูกชิ้นทอดซึ่งเน้นเป็นลูกชิ้นหมูนั้นมีความนุ่มอร่อย ที่สำคัญ น้ำจิ้มเป็นสูตรเฉพาะทำจากน้ำมะขามเปียก พร้อมมีกลิ่นหอมของพริกทอด ทำให้รสชาติเป็นที่ถูกปากของลูกค้า ต่างได้รับผลกระทบจากราคาหมูที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก และวัตถุดิบอื่นๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่ผ่านมาต้องแบกรับภาระต้นทุน โดยไม่ปรับขึ้นราคาขายและไม่ลดปริมาณ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ ทั้งนี้อยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพงเพื่อช่วยเหลือประชาชนในภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ที่ต่างได้รับผลกระทบจากโควิด
นายเกรียงไกร ทองยัง พ่อค้าขายลูกชิ้นหมู “เกรียงไกร” บอกว่า ราคาหมูแพงขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการที่ต้องใช้เนื้อหมูเป็นวัตถุดิบในการทำลูกชิ้นหมูขาย ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แต่คุณภาพ ปริมาณ และราคาขายยังเท่าเดิม ไม่มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด ซึ่งยังคงมีลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จึงอยากขอให้ภาครัฐลงมาดูแลราคาสินค้าไม่ให้แพงเพื่อช่วยเหลือประชาชน
สำหรับลูกชิ้นหมู “เกรียงไกร” (ลูกชิ้นหมูทำเอง) จะเปิดขายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น. บริเวณถนนศรีเพชร 2 (หน้าโรงรับจำนำเก่า) ในเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เสาร์-อาทิตย์ จะขายที่ถนนคนเดินเซราะกราว ไม้ละ 5 บาท หากซื้อเป็นชุด ลูกชิ้นชุดเล็ก 50 บาท ชุดใหญ่ 100 บาท ส่วนน้ำจิ้ม เป็นขวด กับถุงเล็ก 20 บาท ถุงใหญ่ 50 บาท ซึ่งทำให้พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว และญาติพี่น้อง
ขณะที่แม่ค้าที่จำหน่ายลูกชิ้นยืนกิน บริเวณสถานีรถไฟบุรีรัมย์ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ราคาหมูที่แพงขึ้นได้ส่งผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่ถึงขั้นกระทบมาก ถือว่ายังสามารถประคับประคองไปได้ และจะยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ทั้งในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ หรือราคาจำหน่ายแต่อย่างใด โดยจะยังขายในราคาเดิม คือ ไม้ละ 3 บาท 7 ไม้ 20 บาท ถึงแม้จะได้กำไรน้อยก็ตาม