xs
xsm
sm
md
lg

จำยอม!? พ่อค้าแม่ค้าครวญทั้งแผ่นดิน ราคาหมูแพงมหาโหด-ร้านอาหารขาดทุนรายวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครสวรรค์/อุทัยธานี - ราคาเนื้อหมูแพงมหาโหดกระทบร้านอาหารทุกระดับต้นทุนวัตถุดิบพุ่งเกือบเท่าตัวแต่ปรับราคาตามไม่ได้ บางรายลดเมนูหมู-ลดปริมาณแล้วยังขาดทุนรายวัน วอนผู้เกี่ยวข้องคุมราคาด่วน


ผู้ประกอบการร้านอาหารที่ใช้หมูเป็นวัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารทั้งข้าวขาหมู หมูแดง หมูกรอบ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์-อุทัยธานี ต่างได้รับผลกระทบจากราคาหมูแพงกันทั่วหน้า หลังหมูสดทั้งหน้าฟาร์มและเขียงหมูในตลาดสดราคาปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ล่าสุดราคาเนื้อหมูสดตามตลาดเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 240-250 บาท จากเดิมที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 170 กว่าบาทเท่านั้น ทำให้ต้นทุนเมนูหมูพุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัว

นางนริศรา จินดาภักดี เจ้าของร้านอาหารข้าวมันไก่ฮ่องเต้ ที่มีเมนูหลักอย่างข้าวขาหมู หมูแดง หมูกรอบ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ทางร้านต้องแบกรับภาระต้นทุนจากการซื้อวัตถุดิบอย่างเนื้อหมูที่ราคาสูงขึ้น จากเดิมที่เคยซื้อวันละ 2,000 บาท แต่เดี๋ยวนี้ต้องซื้อถึงวันละ 5,000 บาท เพื่อนำมาประกอบอาหารขายเฉลี่ยจานละ 40-50 บาทเท่าเดิม

หากจะขึ้นราคาก็สงสารลูกค้าคนกิน และกลัวลูกค้าจะรับไม่ไหว ก็ขายไม่ได้กันอีก ต้องปรับลดชิ้นส่วนหรือวัตถุดิบที่เป็นหมูต่อจานลดลงบ้าง ยอมแบกรับภาระต้นทุนไปเฉลี่ยกับเมนูอื่นๆ แทน เหลือกำไรนิดๆ หน่อยๆ พอประคองตัวไว้รอราคาหมูลง

“ก็งงเหมือนกัน ราคาเนื้อหมูขึ้นตลอด จากกิโลฯ ละ 170 กว่าบาท มาเป็น 250 บาท แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องจำยอมแบกต้นทุน เพราะแม้เราจะตั้งใจลดปริมาณหมูแต่ละจาน แต่พอทำไปหลายๆ จานก็ตักหมูใส่จานให้ลูกค้าในปริมาณเท่าเดิมอีก เพราะเนื่องจากทำมาหลายสิบปีจนเกิดความเคยชิน ซึ่งทุกวันนี้ก็ขายแบบขาดทุนรายวันจึงอยากวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย”


ขณะที่นายกิติรัตน์ พันธ์นุ่ม อายุ 38 ปี และนางสาวสุธิราภรณ์ เบิกสูงเนิน อายุ 35 ปี สองสามีภรรยาที่เปิดตั้งโต๊ะขายกับข้าวแกงถุง 10 บาทมานานกว่า 5 ปีแล้ว วันนี้ก็ยังคงขายในราคา 10 บาท บอกว่าช่วงนี้ราคาเนื้อหมูปรับสูงขึ้นเยอะมาก แต่เราก็ยังคงขายราคาเท่าเดิมและตักอาหารขายในปริมาณเท่าเดิม

โดยจะใช้วิธีเลี่ยงต้นทุนไม่ให้สูงมากด้วยการปรับเปลี่ยนเมนูใช้หมูให้น้อยลง เปลี่ยนเป็นเมนูไก่เพิ่มขึ้นแทน เพราะลำพังที่หมูยังไม่ปรับขึ้นก็กำไรน้อยอยู่แล้ว และไม่อยากขึ้นราคาลูกค้า ซึ่งที่ร้านจะมียอดขายในแต่ละวันที่ 400-500 ถุง หรือวันละ 4-5 พันบาท จะเหลือกำไรไม่เกินวันละ 1,000-1,500 บาท ถือว่าน้อยถ้าเทียบกับการลงทุน ทั้งวัตถุดิบและแรงงาน แต่ก็สุขใจที่ได้ทำอาหารขายในราคานี้




กำลังโหลดความคิดเห็น